เนื้อหาโดย Dodeden.com
สถาปัตยกรรมไทยนั้น เป็นงานที่ถือว่ารวบรวมงานช่างสิบหมู่แทบทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีสถาปนิกหรือนายช่างใหญ่ เป็นผู้สร้างสรรค์ให้องค์ประกอบแต่ละส่วนประสานกลมกลืน งดงาม งานสถาปัตยกรรมที่ได้ชื่อว่า หากช่างใดได้มีโอกาสออกแบบแล้ว ถือว่า “เรียนจบ” คือการ ออกแบบพระเมรุมาศ
เพราะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีมิติอันซับซ้อน ด้วยเป็นงานเนื่องในพระราชพิธี ต้องมีระบบระเบียบเป็นไปตามโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด รวมถึงเป็นงานที่ช่างต้องออกแบบทุกส่วนสัดขั้นตอน ตั้งแต่การจัดการพื้นที่ การจัดผังบริเวณ ไปจนถึงลวดลายประดับตกแต่งทุกองค์ประกอบเลยทีเดียว สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านเคยมีพระดํารัสว่า การออกแบบพระเมรุ เป็นงานที่สามารถใช้เป็นแบบฝึกหัดได้อย่างดีที่สุด เพราะเป็นงานชั่วคราว หากผิดพลาดก็ไม่ได้ตั้งอยู่ประจานคนออกแบบได้นานนัก และเป็นงานที่ต้องออกแบบอย่างละเอียดทุกส่วน จึงถือได้ว่าเป็นสุดยอดของงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย
การถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จะมีการสร้างพระเมรุมาศขึ้นมา เพื่อทําการถวายพระเพลิง พระเมรุมาศนี้ นัยว่าเป็นการจําลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดา ตามคติจักรวาล เพื่อถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งนับถือกันว่าเป็นเทพลงมาจุติ การก่อสร้างจึงมีลักษณะยิ่งใหญ่มโหฬารเพื่อให้สมพระเกียรติ และมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีแบบแผนมาตั้งเเต่อดีต
งานพระเมรุมาศในสมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีหลักฐานจากพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ในระยะเริ่มต้น การพระเมรุยังไม่มีสถานที่ที่กําหนดเขตสร้างโดยเฉพาะ แต่กําหนดจากพระมหากษัตริย์ เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว นําพระอัฐิบรรจุในสถูป รวมทั้งมีการสถาปนาสถานที่ถวายพระเพลิงให้เป็นวัด ดังเช่น เจ้าสามพระยา สถาปนาสถานที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา เป็นพระมหาธาตุและพระวิหาร แล้วให้นามว่า “วัดราชบูรณะ”
มาจนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ลักษณะการปลูกสร้างพระเมรุมาศคงสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวคือได้เริ่มมีการกําหนดตําแหน่งสถานที่ถวายพระเพลิงไว้ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการถาวร พระราชพิธีพระบรมศพเป็นไปอย่างมโหฬาร มีการจัดสร้างพระเมรุมาศขึ้นที่ลาน หรือสนามกว้างกลางพระนคร (จึงเรียกว่าสนามหลวง) ซึ่งอยู่ไม่ห่างไปจากพระราชวังหลวงมากนัก เพื่อความสะดวกในการจัดการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราใหญ่ อัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศ ลักษณะของพระเมรุมาศ มีปรากฏในจดหมายเหตุการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กล่าวถึงการสร้างพระเมรุทอง พระเมรุใหญ่สูง 45 วา (90 ม.) มีประตู 4 ทิศ มีเมรุ ทิศ 4 เมรุแทรก 4 รอบๆ พระเมรุตั้งรูปเทวดาวิทยาธรและสัตว์หิมพานต์ จากนั้น กั้นราชวัติปิดทอง และตีเส้นทางเดินสําหรับเชิญพระบรมศพ
การพระบรมศพที่มีการก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างใหญ่โต มีการจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกอย่างสมัยอยุธยานี้ ได้เป็นต้นแบบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่าเป็นพระเมรุมาศพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย ที่สร้างตามแบบโบราณนี้ ด้วยเหตุที่องค์พระปิยะมหาราชได้พระราชทานพระกระแสพระราชดําริรับสั่งว่า การสร้างพระเมรุมาศให้มีขนาดใหญ่โต เป็นการสิ้นเปลือง ไม่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น จึงทรงให้ยกเลิกเสีย แล้วให้จัดการพระเมรุถวายพระเพลิงแต่พอสมควร ซึ่งพระเมรุมาศในลักษณะบุษบก และมีขนาดพอประมาณนี้ ได้ใช้เป็นแบบแผนสืบต่อเนื่องมา อันได้แก่พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นต้นแบบ พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อนึ่ง สําหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเหตุการณ์บ้านเมืองบางประการ ที่ทําให้ไม่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงทําให้ไม่มีพระเมรุมาศเนื่องในพระองค์
งานพระเมรุมาศในสมัยรัตนโกสินทร์
การจัดงานพระเมรุมาศในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ได้กระทําตามอย่างประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา งานพระเมรุมาศในสมัยรัตนโกสินทร์จัดขึ้นบริเวณท้องสนามหลวงในปัจจุบัน ดังเคยปรากฏชื่อเรียกบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “ทุ่งพระเมรุ” แต่ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมิโปรดที่ราษฎรเรียกสนามหลวงว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระองค์จึงโปรดให้มีประกาศเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” ซึ่งงานพระเมรุมาศในสมัยรัตโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 นั้น เป็นไปตามแบบงานพระเมรุมาศในสมัยอยุธยา มีการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ สร้างพระเมรุใหญ่ครอบพระเมรุทอง งานมหรสพหลายวันหลายคืน ซึ่งต้องหมดเปลืองทั้งแรงงานและเวลาเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ยุติงานพระบรมศพและพระเมรุมาศแบบโบราณราชประเพณี โดยการไม่สร้างพระเมรุใหญ่ครอบพระเมรุทองเหมือนในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างเพียงแต่พระเมรุมาศสําหรับประดิษฐานพระบรมโกศเท่านั้น
ช่วงเวลาเปลี่ยนแปลง
งานพระบรมศพ และพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากโบราณราชประเพณีหลายประการ คือยกเลิกการสร้างพระเมรุใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ซ่อมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นถาวรวัตถุที่ประดิษฐานพระบรมโกศ สรางพระเมรุบุษบกขนาดเล็กที่ท้องสนามหลวง เป็นที่ถวายพระเพลิง ประกอบด้วยพระที่นั่งทรงธรรมหลังหนึ่ง มีโรงที่พักและเครื่องสูง ราชวัติธงประดับตามพระเกียรติยศ ยกเลิกงานฉลอง จําพวกดอกไม้เพลิงและการมหรสพต่างๆ และไม่ต้องมีการตั้งโรงครัวเลี้ยง ยกเลิกต้นกัลปพฤกษ์ เปลี่ยนเป็นพระราชทานของแจก ส่วนการถวายพระเพลิงนั้น เชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปเข้ากระบวนที่หน้าวัดพระเชตุพน มาตั้งพระบรมโกศที่พระเมรุท้องสนามหลวง เวลาเย็นถวายพระเพลิง รุ่งขึ้นเวลาเช้าแห่พระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
การเปลี่ยนแปลงงานพระบรมศพและพระบรมโกศนั้น ก็อันเนื่องมาจากความสิ้นเปลืองของงานพระเมรุตามโบราณราชประเพณีตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น พระองค์จึงได้โปรดให้ปรับเปลี่ยนการพระบรมศพและพระเมรุมาศ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นต้นแบบให้การการพระบรมศพและพระเมรุมาศในปัจจุบัน
พระเมรุมาศ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคติสัญลักษณ์ และมีข้อกําหนดกฏเกณฑ์ในการออกแบบอย่างมีแบบแผนเคร่งครัด การได้ทําการศึกษาถึงที่มาและข้อกําหนดกฏเกณฑ์ต่างๆ อย่างจริงจัง และสามารถสรุปวิธีการออกแบบรวมทั้งสร้างแผนภาพตัวแบบของการออกแบบพระเมรุมาศได้ เชื่อว่าจะทําให้องค์ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแบบชั่วคราวที่มีเอกลักษณ์งดงามยิ่งนี้ จะคงอยู่และเป็นประโยชน์ต่อไป