ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

อาจารย์ทันตแพทย มช. สร้างสรรค์ผลงาน ‘รากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้’ คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ มีขนาดเพียง 2.75-3 มม. ที่สำคัญราคาถูก ใส่เสร็จในครั้งเดียว สึกหรอสามารถเปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที…

EyWwB5WU57MYnKOuXodiWPNvnzrR55LjllGsnafJpboeLxRCbMvk4Y

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.58 รศ.ทพ.ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า คณะทันตแพทย์ฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ประจำปี 2558 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากผลงานนวัตกรรม “รากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้” (Mini dental implant for retaining removable denture) ซึ่งเป็นการพัฒนารากฟันเทียมขนาดเล็กเพียง 2.75-3 มิลลิเมตร

รศ.ทพ.ดร.ปฐวี กล่าวว่า รากเทียมดังกล่าว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหัวที่ยึดกับฟันปลอม และส่วนลำตัวที่ยึดติดกับกระดูกกราม ซึ่งการใช้งานนั้นจะเปิดแผลขนาดเล็กเพื่อใส่ส่วนลำตัวที่ยึดกระดูกกราม ทำให้คนไข้เจ็บน้อยลง การฟื้นตัวเร็วขึ้น ไม่ต้องรอนาน เนื้อเยื่อเสียหายไม่มาก คนไข้สามารถใส่รากฟันเทียมแล้วเสร็จในครั้งเดียว แผลเล็กหายเร็ว ยึดกับกระดูกได้ดี เมื่อสึกหรอจากการใส่เข้า-ออกฟันปลอมแล้ว สามารถเปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้งเหมือนเดิม ที่สำคัญ ราคาถูกลงในระดับที่คนไทยสามารถจ่ายได้ เมื่อเทียบกับฟันปลอมแบบตะขอเกี่ยว ซึ่งคนไข้มักไม่นิยมเนื่องจากเจ็บ หลุด เคลื่อนง่าย ไม่เสถียร หรือหากเป็นรากฟันทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลานานในการรักษา เนื่องจากต้องผ่าเปิดแผลเพื่อใส่รากเทียม เจาะและเย็บปิด ก่อนรอเวลาอีกราว 3 เดือน เมื่อแผลหายดีแล้วจึงจะใส่ฟันเทียมได้

นวัตกรรมดังกล่าว สามารถใช้เพื่อทดแทนรากฟันเทียมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ในราคาไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อการรักษาเพียง 1 ซี่ แต่ผลงานรากฟันเทียมที่พัฒนาสำเร็จในครั้งนี้ มีราคาเพียงหลักพันบาท ซึ่งคนทั่วไปสามารถจ่ายได้ ช่วยให้ผู้ป่วยทันตกรรมมีโอกาสเข้าถึงการรักษามากยิ่งขึ้น โดยจะช่วยยึดฟันเทียมได้ทั้งแบบซี่และแบบหลายซี่ ทั้งนี้ นวัตกรรมรากฟันเทียมนี้ ได้ส่งต่อให้กับบริษัท พีดับบลิว พลัส จำกัด ทำตลาดเป็นแบรนด์ไทยรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย รวมถึงในเอเชียที่มีมาตรฐานการผลิต ISO 13485 และผ่านการรับรองมาตรฐานของสหภาพยุโรป (CE mark).

เรื่องน่าสนใจ