เนื้อหาโดย Dodeden.com
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลี้ยงอาหารไทยแก่นักเรียนไทยที่อพยพจากประเทศ ข้างเคียง เข้าไปเรียนอยู่ที่โลซานน์ ณ พระตําหนักวิลล่าวัฒนาทุกวันเสาร์ หลังจากรับพระราชทานเลี้ยง ก็ตั้งวง “กระป๋อง” บรรเลงดนตรีและมีการเต้น ว่าด้วยโดยในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงดนตรีสลับกันอยู่ตลอดเวลาอย่างสําราญพระราชหฤทัย
นอกจากนี้ ก็ยังมีวง “ลายคราม” ซึ่งเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์ ที่ก่อตัวขึ้นหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติพระนครมาประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ประกอบด้วยนักดนตรีและนักร้องสมัครเล่น ซึ่งเป็นพระประยูรญาติ มีหลายครั้งที่นักดนตรีเล่นผิดๆ ถูกๆ แต่พระองค์ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงแนะนําให้กําลังใจ ให้ทุกคนมีความสนุกสนานครึกครื้นอยู่กับการเล่นดนตรีเสมอ
วง อ.ส.
พ.ศ. 2495 กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุ กําลังส่ง 100 วัตต์ ซึ่งมีทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว พระองค์จึงทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้น ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (อ.ส. เป็นอักษรย่อจากคําว่า อัมพรสถาน ปัจจุบันตั้งอยู่ในพระตําหนักสวนจิตรลดา) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้ความบันเทิง สาระประโยชน์และข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน วงลายครามก็ได้บรรเลงดนตรี ออกอากาศเป็นประจําทุกวันศุกร์ ต่อมานักดนตรีวงลายครามติดภารกิจมากขึ้น จึงมีการ “ซ่อม” วง โดยการแซมนักดนตรีจากสถาบันศึกษาต่างๆ จนเรียกกันเล่นๆ ในระยะนั้นว่า “วงเก็บตก” แล้วจึงได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์” บรรเลงเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. และยังร่วมบรรเลงในงานทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เป็นเวลากว่า 10 ปี
วงสหายพัฒนา
เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2529 ในขณะนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประชวรมาก เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับที่เชียงใหม่ มีหมอเฝ้าพระอาการอยู่ หลายคนจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงสอนดนตรีให้ โดยเริ่มจากที่ไม่มีใครเล่นดนตรีเป็นเลยสักชิ้น ทรงสอนตั้งแต่อ่านโน้ต เวลาหมอคนไหนเข้าเฝ้าต้องนําเครื่องดนตรีไปด้วย วงสหายพัฒนามักช้อมกันทุกวัน ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในหมู่แพทย์ประจําพระองค์ ราชองครักษ์ ข้าราชบริพาร และนักพัฒนาอาสาสมัครของโครงการหลวงต่าง ๆ
“…ดนตรีคลาสสิค ต้องเล่นอย่างตั้งใจจริงจัง ข้าพเจ้าไม่ได้พักผ่อนเท่าใดนัก ต้องคอยระวังไม่ให้ผิดโน้ต และไม่ให้ใครมารบกวนข้าพเจ้า ถ้าหากข้าพเจ้าเล่นเพลงแจ๊สก็ดีกว่า เพราะว่าข้าพเจ้าเล่นทํานองได้ตามชอบใจ ตามที่รู้สึกในขณะนั้น ตามแต่อารมณ์และความนึกคิดของข้าพเจ้าจะพาไป ถ้าใครมาทําเสียงดังเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นเสียงประกอบ และถ้าข้าพเจ้าเล่นผิดโน้ตก็เท่ากับข้าพเจ้าแต่งทํานอง นั้นขึ้นเองในปัจจุบัน…”