ที่มา: kingrama9.net

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

tampatra

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก จำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้น ทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ โดยโครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

ลานอุตราวรรต
หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาดทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์  ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ

ฐานชาลาชั้นที่ 1 
เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน

ฐานชาลาชั้นที่ 2 
มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี 

ฐานชาลาชั้นที่ 3 
ฐานบุษบกประธาน ประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ

จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด 
มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)

ทั้งนี้ อาคารและสิ่งปลูกสร้างประกอบถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับองค์พระเมรุมาศ เพื่อเสริมสร้างให้พระเมรุมาศมีความสง่างามตามพระบรมราชอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เรื่องน่าสนใจ