กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนสถานพยาบาล แพทย์ต่างชาติ ให้บริการโดยพลการ ผิดกฎหมาย เข้าข่ายใช้หมอเถื่อนมีโทษทั้งผู้ดำเนินการและหมอเถื่อน ชี้แพทย์จากต่างประเทศจะต้องสอบและได้รับใบประกอบวิชาชีพของไทยจึงมีสิทธิ์ให้บริการ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ขณะนี้ บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความงามของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากประชาชน และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สถานพยาบาลหลายแห่งจึงมีการแข่งขันกัน ซึ่งสถานพยาบาลบางแห่งอาจจะอ้างว่ามีการให้บริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้รับบริการ

อย่างไรก็ดี กรม สบส.ขอเน้นย้ำว่าการนำ แพทย์ต่างชาติ มาให้บริการในสถานพยาบาลของไทย ไม่ว่าจะให้บริการประจำหรือไม่ประจำก็ตาม จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541

โดยต้องแจ้งขออนุญาตกับกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้ง แพทย์จากต่างประเทศต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาก่อนจึงจะมีสิทธิ์ให้บริการในสถานพยาบาลของไทย แต่ปัจจุบันจากข้อมูลของแพทยสภาพบว่ายังไม่มีแพทย์จากต่างประเทศรายใดได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา ดังนั้น หากพบว่าสถานพยาบาลแห่งใดลักลอบใช้แพทย์จากต่างประเทศมาเป็นผู้ให้บริการ ทั้งการรักษาพยาบาล หรือเสริมความงาม จะมีความผิดตามกฎหมายฐานใช้หมอเถื่อน

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สำหรับบทลงโทษของสถานพยาบาลที่มีการนำหมอเถื่อนมาให้บริการนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. แพทย์ผู้ดำเนินการจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานปล่อยให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์มาดำเนินการ มีโทษจำคุกไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2. หมอเถื่อนมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  หรือปรับไม่เกิน 30,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มคลินิก ตรวจสอบเฝ้าระวังสถานพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครฯ ที่มีกว่า 6,000 แห่งอย่างต่อเนื่อง และหากประชาชนพบการให้บริการโดยแพทย์จากต่างประเทศขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหมอเถื่อน และหลีกเลี่ยงไม่รับบริการ หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้แจ้งมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18822 หรือ 18618

หรือทางเฟซบุ๊ก : สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ในวันและเวลาราชการ หากอยู่ในส่วนภูมิภาคให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับสถานพยาบาลและหมอเถื่อนรายดังกล่าว

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ