ที่มา: โพสทูเดย์

ข่าวพริตตี้สาวกระโดดตึกสูง 16 ชั้นแต่รอดตายหวุดหวิด สร้างความระทึกขวัญให้สังคมไทยได้ไม่น้อย ยิ่งขุดลึกลงไปถึงสาเหตุการกระทำของเธอซึ่งถูกระบุว่าเป็นอาการ “หลอน”ทางประสาท อันเกิดจากผลข้างเคียงจากการรับประทานยาลดความอ้วนอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนแก่สาวๆผู้โหยหาความสวยภายใต้ความเชื่อที่ผิดๆได้เป็นอย่างดี

Fat female body part.

ยาลดความอ้วนทำให้บ้า?

ข้อมูลจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ยาลดความอ้วนทำให้เกิดอาการทางจิตได้จริง โดยเเบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ยาที่ถูกต้องตามทะเบียนยา เเละยาผีบอกหรือแบบไม่ตรงทะเบียนยา

สำหรับ ยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

1.ยาที่ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทส่วนกลาง หรือออกฤทธิ์ที่สมอง จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ห้ามจำหน่ายเองโดยร้านขายยาหรือในสถานลดน้ำหนักที่ไม่ใช่สถานพยาบาล แต่ความเป็นจริงสามารถหาซื้อได้ไม่ยาก

ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาไซบูทรามีน (ชื่อสามัญว่า Sibutramine หรือที่รู้จักในชื่อการค้าคือ Reductil) สมัยก่อนได้รับความนิยมมาก ต่อมาพบว่ามีอันตรายและมีผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิตบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายได้ขอถอนตัวยาออกจากทะเบียนในปี คศ. 2010 ทำให้ปริมาณการใช้ลดลงมาก เพราะถือว่าผิดกฎหมายและเป็นยาเถื่อน

แต่ปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้ตามร้านขายยาหรือคลินิกโดยลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย มีทั้งปวดหัว ปากแห้ง เบื่ออาหาร ท้องผูก ใจสั่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า จนถึงหูแว่วหวาดระแวง ยาเฟนเทอมีน (Phentermine) ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ความอิ่มในสมอง ทำให้กินแล้วรู้สึกอิ่มไม่อยากอาหาร

ยาตัวนี้มีลักษณะคล้ายอนุพันธ์ของยาบ้า หรือแอมเฟตามีน กินแล้วอาจฉี่ม่วง ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ใจสั่น ความดันสูง ปวดหัว นอนไม่หลับ ท้องผูก อารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ อาการหูแว่วหวาดระแวง จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด และห้ามใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า 2-3 สัปดาห์โดยเด็ดขาด

Assorted pills

2.ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมไขมันที่ลำไส้ ปัจจุบันมีอยู่ตัวเดียวที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ คือ ยาโอลิสแตต (หรือชื่อการค้าคือ Xenical) ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการย่อยสลายไขมันในอาหาร ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ทำให้ปริมาณไขมันที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง มีผลข้างเคียงน้อย และค่อนข้างปลอดภัยกว่า ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องอาการทางจิต แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่เพราะยามีผลข้างเคียงทำให้ถ่ายออกมาเป็นไขมัน หลายคนรู้สึกไม่ชอบ

“คนมักเข้าใจผิดคิดว่ากินยาตัวนี้แล้ว ไปกินแหลกยังไงก็ได้ไม่อ้วน ทำให้บางคนเล่นกินยาตัวนี้ก่อนจะไปกินบุปเฟห์หรืองานเลี้ยง แต่ที่จริงไม่ถูกต้อง เพราะยาลดการดูดซึมไขมันได้เพียง 30-50% เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังดูดซึมเข้าร่างกายได้อยู่ดี ผลก็คือเอาไม่อยู่ ขืนทำแบบนี้บ่อย ๆ น้ำหนักก็คงไม่ลด”

ขณะที่ ยาผีบอกหรือแบบไม่ตรงทะเบียนยาที่ร้านขายยาหรือคลินิกลดความอ้วนไร้มาตรฐานชอบจ่ายให้ผู้ป่วย มีดังนี้

ยาขับปัสสาวะ ที่นิยมเอามาจ่ายกันคือ Lasix หรือ HCTZ จัดอยู่ในกลุ่มยาลดความดัน ออกฤทธิ์โดยมีผลทำให้ร่างกายขับน้ำออกมาเยอะกว่าปกติ จากกินแล้วปัสสาวะบ่อย ผลข้างเคียงทำให้ความดันต่ำ อาจทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติได้ ยาถ่ายหรือยาระบาย กินแล้วน้ำหนักเหมือนจะลดเร็ว แต่ไขมันอยู่เท่าเดิม ที่นิยมเช่น ยาระบายมะขามแขก และยา Bisacodyl ยาธัยรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormone) เป็นยารักษาภาวะที่มีฮอร์โมนธัยรอยด์ต่ำ

แต่ที่มีการนำมาใช้เพราะตัวยาเพิ่มการเผาผลาญเมทาบอลิซึมของร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดได้จากการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ผลข้างเคียงคืออาจทำให้ใจสั่น รู้สึกวูบวาบ นอนไม่หลับ ยาฟลูออกซิทิน (Fluoxetine) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า แต่ที่ศูนย์ลดน้ำหนักหลายแห่งมักนำมาใช้เพราะตัวยามีผลข้างเคียงคือทำให้เบื่ออาหารได้โดยเฉพาะในขนาดสูง ปัญหาที่สำคัญคือเมื่อเอามากินปริมาณสูงมากๆในคนที่ไม่ได้เป็นซึมเศร้า อาจทำให้เกิดอาการทางจิตได้

E98C7F7750B54B3FA7085EACBAEB077F

ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด กลุ่มนี้คือยาที่ใช้รักษาเบาหวานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างน้ำตาลจากตับ ลดการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ และมีผลต่อความไวของเซลล์ต่อระดับน้ำตาล หากใช้ในขนาดสูงมาก ร่วมกับยาชนิดอื่น และควบคุมอาหารไปด้วย อาจทำให้หมดสติและช็อคได้ ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน และยาอื่น ๆ เช่น คานิทีน (L-carnitine) ไคโตซาน ส้มแขก บุก เป็นอาหารเสริมและสมุนไพรที่นิยมโฆษณาว่าลดน้ำหนัก แต่พบว่าไม่มีผลการวิจัยที่เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพได้ ที่น่ากลัวที่สุดคือกลุ่มยาลูกกลอน มีรายงานพบว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งที่กินเข้าไปแล้วเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง

“ให้ระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาลดน้ำหนักต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อเอง หรือไปคลินิกที่มีการจ่ายยาโดยผู้ช่วยทั้ง ๆ ที่แพทย์ไม่ได้ตรวจอย่างเด็ดขาด และหากได้ยามาอย่าลืมถามแพทย์ด้วย ว่ายาสีสันสดใสหลายอย่างที่ได้มานี่มันคือยาอะไรบ้าง จะได้ไม่เจอยาที่ไม่ถูกไม่ควร”

สารพัดอาการ”หลอน”

วรณัน กล้าทน วัย 25 ปี เล่าบทเรียนที่ได้รับจากยาลดความอ้วนว่า ได้รับคำแนะนำให้ลองรับประทานยาจากรุ่นน้องคนหนึ่ง รู้เพียงแค่ว่าปลอดภัยและลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว

“รุ่นน้องแนะนำมา บอกกินแล้วดี ผอมเร็ว ไม่อันตราย แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราคอแห้ง น้ำลายเหนียว ใจสั่น ส่วนเรื่องน้ำหนักนั้นลงเร็วมาก สัปดาห์เดียวลดไป 5 กิโลจนเพื่อนทักว่าไปทำอะไรมา ผ่านไปสักพัก น้ำหนักจะไม่ลดลงอย่างพรวดพราดเหมือนช่วงแรก แต่เริ่มมีอาการอย่างอื่นเข้ามา รู้สึกตัวลอย เดินแล้วเหมือนเท้าไม่ติดพื้น ขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย นิสัยเปลี่ยนไปจนคนรอบข้างผิดสังเกต”

ขณะที่ สุทธิดา เปิดเผยถึงประสบการณ์เลวร้ายจากการกินยาลดอ้วนว่า น้ำหนัก 58 กิโลกรัมแต่รู้สึกว่าอ้วนเกินไป จึงไปหาหมอเพื่อขอยาลดน้ำหนัก เพียง 1 สัปดาห์น้ำหนักก็ลดลงถึง 5 กิโลกรัม

“ลดจริง ลดไว 1 อาทิตย์ 5 กิโลกรัม กิน 4 เวลา เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน แต่ใจสั่นมาก แรงจนเหมือนได้ยินเสียงหัวใจของตัวเอง ตอนนั้นไม่อยากอาหาร กินน้อย วันละมื้อเดียว ปากแห้งมาก หิวน้ำ น้ำลายเหนียว ง่วง แต่ไม่กล้าหลับเพราะกลัวตาย สุดท้ายเลิกกินเลย เพราะถึงจะรู้สึกดีกับรูปร่าง แต่ไม่สบายใจและกลัวตายมากกว่า”

ขณะที่ พลอยไพลิน เล่าว่า เธอเครียดเรื่องน้ำหนักจึงเริ่มใช้ยาเป็นทางออก

“พอยาออกฤทธิ์เริ่มไม่หิว เห็นอาหารก็ไม่รู้สึกอะไรเลย ดีใจมาก เพราะแต่ก่อนเห็นอะไรก็อยากกิน เชื่อไหมทั้งวันไม่อยากกินอะไรเลย ไม่มีอาหารตกถึงท้องเราแม้แต่เม็ดเดียว แถมยังเข้าห้องน้ำทั้งวัน คิดว่าดีเหมือนกัน อยากเป็นแบบนี้มานานแล้ว พอผ่านไป 1 อาทิตย์ น้ำหนักเราลดไป 3 กิโล ดีใจเลยไปเอายามาเพิ่ม คราวเหลือ 42 กิโล ใส่เสื้อผ้าได้สวยมาก มั่นใจในตัวเองขึ้นเยอะ”

หลังจากนั้น 1 ปี ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาลดความอ้วนอย่างต่อเนื่องเริ่มปรากฎ

“นอนไม่หลับ กลางคืนจะไม่ยอมนอนเลย ตื่นมาฟังเพลงบ้าง นั่งทำงานบ้าง อ่านหนังสือบ้าง สองสามชั่วโมงแล้วก็ไม่ง่วง บางวันไม่ได้นอนเลย ไปเรียนทั้งที่ไม่ได้นอน แต่พอวันไหนยาหมด เราไม่กินต่อ กลายเป็นว่าเราจะนอนทั้งวันเหมือนกับว่า ร่างกายไม่ได้พักผ่อนมานาน นอนจนพี่สาวต้องมาปลุกให้กินข้าว ซึ่งเราก็ไม่ได้สนใจว่ามันเป็นผลข้างเคียงของยา เพราะเราผอมสวยสมใจ ช่วงนั้นไม่ค่อยอยากคุยกับใครรู้สึกหงุดหงิดไปหมด

บางครั้งนั่งฟังเพลง ก็เกิดอยากร้องไห้ขึ้นมา แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะยาลดความอ้วนคิดแค่ว่าอยากแต่งตัวสวยอย่างเดียว เรากินๆ หยุดๆ พออ้วน ก็กิน พอน้ำหนักได้ตามที่ต้องการ เราก็หยุด เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 2-3 ปี เริ่มไปเรียนด้วยอาการเบลอๆ แต่คิดว่าตัวเองเบลอเพราะไม่ได้กินข้าว อยู่มาวันหนึ่งขณะกำลังนั่งรถเมล์กลับบ้าน เรารู้สึกว่าจะเป็นลม ดีที่ยังถึงบ้าน ก็เลยรีบเข้าไปอาเจียน ยังคิดอีกว่าอาหารคงเป็นพิษ จนสุดท้าย เรากลับมานั่งไตร่ตรอง จนคิดได้ว่าอาการทั้งหมดเป็นเพราะเรากินยาติดต่อกันมานาน จึงตัดสินใจว่า เลิกดีกว่า ก่อนที่มันจะแย่กว่านี้”

เปลี่ยนทัศนคติใหม่=สวยได้ไม่ต้องพึ่งยา

ความสวยอาจนำมาซึ่งงาน เงิน รวมทั้งความสัมพันธ์ แต่ที่มาของความสวยต้องถูกต้องและปลอดภัยด้วย

พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รพ.มนารมย์ อธิบายว่า หากเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความสวยของสังคมไม่ได้ แต่คุณผู้หญิงก็สามารถอยู่กับหลักคิดแบบนั้นโดยไม่เป็นทุกข์ เริ่มจากยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และหากต้องการพัฒนาตัวเองเพื่อสวยในแบบที่สังคมยอมรับก็ขอให้คำนึงถึงความถูกต้องเป็นสำคัญ

“ทัศนคติของสังคมส่วนใหญ่ชอบมองว่า คนสวยต้องผิวขาว รูปร่างผอม ทั้งที่ไม่ใช่แค่นั้น แต่หากเราหนีความคิดแบบนี้ไม่พ้น ขอให้เริ่มยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และเริ่มพัฒนาตัวตนของเราด้วยหลักคิดที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หากอยากลดน้ำหนักก็ต้องเข้าใจว่า ยาไม่ใช่สิ่งที่ทำให้รูปร่างเราดีอย่างคงทนถาวร เพราะรูปร่างที่ดีอย่างแท้จริงมาจากการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย อะไรที่มันฝืนธรรมชาติ ไม่คงทนถาวร”

จิตแพทย์รายนี้ให้คำแนะนำว่า ความสวยที่แท้จริงต้องออกมาจากภายใน หมายถึง วิธีคิด วิธีการดำเนินชีวิต และวิธีการปรับอารมณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตัวเองและไม่เกิดผลกระทบเดือดร้อนต่อคนรอบข้าง ตรงนี้ต่างหากเป็นความสวยที่คงทน

อย่าลืมว่าหนทางการลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ต่อให้ให้ยาลดน้ำหนักช่วย แต่หากหยุดใช้แล้วกลับไปกินๆนอนๆเหมือนเดิม สุดท้ายไม่วายก็กลับอ้วนอยู่ดี ที่สำคัญผลข้างเคียงจากยาไม่คุ้มค่าเลยกับสิ่งที่ได้รับ

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ