1.มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
การเจริญเติบโตของร่างกายด้านความสูงขึ้นอยู่กับความยาวของกระดูก ซึ่ง การออกกำลังกาย จะทำให้กระดูกของวัยรุ่นมีความแข็งแรง คงทนและมีความหนา เนื่องจากร่างกายมีการเพิ่มการสะสมแร่ธาตุพวกแคลเซียมในกระดูก วัยรุ่นที่ขาด การออกกำลังกายจะมีกระดูกที่เล็ก เปราะบาง และการขยายขนาดความยาวไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้มีการเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น
2.มีผลต่อรูปร่างทรวดทรง
รูปร่างของมนุษย์ ประกอบด้วยโครงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ปกคลุมอยู่ เมื่อกระดูกมีการเจริญเติบโตน้อยและช้า กล้ามเนื้อมีปริมาณน้อยเพราะขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้บางคนมีรูปร่างผอมบางไม่แข็งแรง ซึ่งหากบางคนกินอาหารมากแต่ขาดการออกกำลังกายอาจจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคภาวะโภชนาการเกิน และมีกล้ามเนื้อน้อย และทำให้การตึงตัวของกล้ามเนื้อเพื่อคงรูปร่างในสภาพที่ถูกต้องเสียไป เป็นเหตุให้มีรูปร่างทรวดทรงไม่สมส่วน คือ มีรูปร่างผอมบาง หรือ อ้วนจนเกินไป และไม่สมประกอบ เช่น ขาโก่งหรือเข่าชิดกัน ศีรษะเอียง หรือตัวเอียง เป็นต้น
3.มีผลต่อสุขภาพทั่วไป
หากขาดการออกกำลังกายจะมีผลต่อสุขภาพ ทำให้มีสุขภาพอ่อนแอ มีความต้านทานโรคต่ำ เจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเจ็บป่วยจะรักษาหายช้า และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
โรคที่มากับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
-กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจขาดเลือด
-โรคอ้วน
-โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง
-โรคเครียด
-โรคภูมิแพ้
-โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
-โรคมะเร็ง
4.มีผลต่อสมรรถภาพทางกาย
การออกกำลังกายมีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพทางกายในด้านต่างๆ การออกกำลังกายชนิดที่ใช้แรงกล้ามเนื้อจะทำให้เกิดความแข็งแรงเพิ่มขึ้น และการออกกำลังกายแบบไม่หนักมากแต่ใช้เวลานานติดต่อกันทำให้เพิ่มความอดทนโดยเพิ่มสมรรถภาพของระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายจะเสียเปรียบในการเรียนวิชาพลศึกษาหรือเล่นกีฬา และมีการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่ำ ทำให้ปฏิกิริยาในการหลีกเลี่ยงอันตรายต่ำด้วย จึงมักได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติภัยได้ง่าย
5.มีผลในด้านสังคมและจิตใจ
การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นกลุ่มจะทำให้วัยรุ่นรู้จักปรับตัวเข้ากับสังคม มีจิตใจร่าเริง ไม่เซื่องซึม วัยรุ่นที่ขาดการออกกำลังกายมักเก็บตัว มีเพื่อนน้อย บางรายอาจหันไปหาอบายมุขหรือยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมปัจจุบัน
Credit : www.greeleyweldsbdc.org