กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวัง โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จากไวรัสโรทา และไวรัสโนโร ทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 พบไวรัสโรทาในกลุ่มอาการอุจจาระร่วงมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และอาหารเป็นพิษ พบได้ในคนทุกกลุ่มอายุและทั่วโลก โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในประเทศไทย เป็นโรคที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ มีการระบาดในช่วงหน้าหนาว ไวรัสโนโร (Norovirus,NoV) ประกอบด้วย 5 จีโนกรุ๊ป (Genogroup)คือ GI – GV จีโนกรุ๊ปที่มักก่อโรคในมนุษย์ คือ จีโนกรุ๊ป 1 (GI) และจีโนกรุ๊ป 2 (GII)โดยเฉพาะจีโนกรุ๊ป 2 พบว่ามีอัตราการก่อโรคในคนสูงที่สุด
ทั้งนี้ในแต่ละจีโนทัยป์ยังสามารถจำแนกออกได้อีกหลายสายพันธุ์ย่อย อาการที่พบ ได้แก่ คลื่นไส้รุนแรง ปวดท้องและท้องร่วง ซึ่งมีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น อาการร่วมอย่างอื่นที่พบ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ เชื้อใช้เวลาในการฟักตัว 12-48 ชั่วโมง ไวรัสโนโรนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน
ไวรัสโรทา (Rotavirus) มี 7 กลุ่ม คือ A,B,C,D,E,Fและ G ซึ่งไวรัสโรทา กรุ๊ป A เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาการมักรุนแรงในเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี มีระยะฟักตัว 1-2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำ มักหายได้เองภายใน 3-8 วัน
และเนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ จึงสามารถเกิดโรคได้หลายครั้ง แม้จะมีการใช้วัคซีนถึง 2 ชนิดแล้ว แต่ด้วยคุณสมบัติของไวรัสโรทาที่มียีนมากถึง 11 จีนโนม จึงทำให้เกิดการผสมข้ามยีนกันในแต่ละ 11 จีนโนม เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ง่าย สำหรับไวรัสโรทานี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันได้แล้ว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสอยู่ 2 ชนิดคือ ไวรัสโรทา และไวรัสโนโร ซึ่งข้อมูลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 – ตุลาคม 2560 ได้รับตัวอย่างทั้งจากผู้ป่วยและน้ำดื่มน้ำใช้ ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอุจจาระร่วง จํานวนทั้งสิ้น 990 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่ให้ผลบวก (พบไวรัส) จำนวน 273 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 27.6
เมื่อนำตัวอย่างที่ให้ผลบวกมาจำแนกชนิดของไวรัส พบว่า ไวรัสโนโร เป็นไวรัสที่พบมากคิดเป็นร้อยละ 76.2 ของจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวก และ GII เป็นจีโนกรุ๊ปที่พบมากที่สุด โดยพบสายพันธุ์ย่อยเป็น GII.2 และ GII.4 เป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นไวรัสโรทา คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวก ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการพบไวรัสโรทาในกลุ่มอาการอุจจาระร่วงลดลงนี้มีผลมาจากการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
“อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคอุจจาระร่วง ประชาชนควรดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากจะเก็บอาหารที่ค้างมื้อควรเก็บไว้ในตู้เย็น และก่อนรับประทานต้องอุ่นให้ร้อนทุกครั้ง และควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ” นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย