เรื่องจริงของโรคอ้วนหลบใน ที่เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน เพราะปัจจุบัน มีโปรแกรมตรวจสุขภาพมากมาย คุณก็หวังจะได้ยินหมอเอ่ยว่าคุณยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคใดๆ ทั้งที่มีน้ำตาลในเลือดสูงบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน ความดันค่อนข้างจะคาบเส้น แต่ยังไม่เยอะพอจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูงนิดหน่อย ไปคุมอาหารเอาแล้วกัน ยังไม่ต้องทานยาหรอก
แต่จริงๆ ก็คือ ส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวมาก และขนาดรอบเอวใหญ่กว่าปกติ วิธีการปฏิบัติดังกล่าว ช่วยให้แพทย์สบายใจ และผู้ป่วยรู้สึกดี คนที่มาตรวจร่างกายก็รู้สึกโล่งใจกลับไป หารู้ไม่ว่า การที่แพทย์บอกคนไข้มีปัญหานิดๆ หน่อยๆ ข้างต้น เป็นคําเตือนว่าคุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ และสมองขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคไขมันเกาะตับ ซึ่งนําไปสู่ภาวะตับแข็งได้
ผู้หญิงหลายคน แค่มีหุ่นอวบเชฟบ๊ะ แต่มีไขมันสะสมลึกๆ ในช่องท้องมากกว่าบริเวณรอบเอว อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่า “โรคอ้วนหลบใน” หรือ เมตาบอลิค ซินโดรม (Metabolic Syndrome) ที่พอมีคำว่า “อ้วน” คนก็เลยไม่ค่อยจะชอบฟัง มักไม่ยอมรับว่าตนเอง อ้วน เพื่อที่จะกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเลี่ยงการออกกําลังไปเรื่อย ๆ
ไขมันที่สะสมอยู่ในช่องท้อง เกิดจากการกินอาหารให้พลังงานสูง อย่างข้าว ไขมัน และเหล้า อีกทั้งไม่เผาผลาญให้เป็นพลังงานด้วยการออกกําลัง ส่วนเกินเหล่านี้ จะสะสมอยู่ในเซลล์ไขมันภายในช่องท้อง และตับ เซลล์ไขมันที่สะสมอยู่ จะสร้างสารชีวภาพที่เป็นพิษ ก่อเกิดการอักเสบเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกายอยู่ตลอดเวลา การอักเสบเรื้อรังดังกล่าว ส่งผลลบต่อเส้นเลือดอย่างต่อเนื่อง ทําให้เส้นเลือดสมองและหัวใจอุดตันได้ การอักเสบที่ตับ อาจนําไปสู่ภาวะตับอักเสบ และสามารถนําไปสู่ภาวะตับแข็งได้ นอกจากนั้น สารชีวภาพที่เซลล์ไขมันสร้างขึ้น ยังก่อให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้น เพื่อช่วยลดน้ำตาลในเลือด น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น จนกลายเป็นเบาหวานไปในที่สุด
เปลี่ยนการใช้ชีวิต
อยากสุขภาพดี ต้องคุมอาหาร และออกกําลัง แต่คนป็นโรคนี้ มักไม่ชอบออกกําลัง ซ้ำยังชอบทานอาหารจําพวกแป้ง ขนม และของทอด การรักษาก็เลยไม่ค่อยได้ผล แนะว่าให้เลือกอาหารที่ถูกวิธี (อิ่มอร่อย พอประมาณท้อง แต่พร่องแคลอรี) ร่วมกับโปรแกรมการออกกําลังที่สนุก ไม่น่าเบื่อจนเกินไป การควบคุมอาหาร และออกกําลัง น้ำหนักจะลดลง และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการกลับมาเป็นปกติได้
ด้วยคําว่า “นิดหน่อย” จากปากแพทย์ ทําให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ตัวเองยังไม่ป่วย เพราะยังไม่ต้องกินยา จึงไม่พยายาม เปลี่ยนแปลงวิธีการกินอยู่เลย ในที่สุดก็ป่วยเป็นโรคจริง ๆ (ที่ไม่นิดหน่อย) อาจนําไปสู่อันตรายถึงขั้นพิการ และเสียชีวิต ก่อนจะสายเกินแก้ ลองมาปรับวิถีชีวิตใหม่กันค่ะ
เนื้อหาโดย Dodeden.com