วันที่ 25 มกราคม ที่หน้าอาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการเปิดตัวปฏิมากรรมแสง ซึ่งใช้หลักการของการตกกระทบของแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้ผู้คนมองเห็นแสงและเงาของชิ้นงานที่นำมาติดตั้งไว้ที่ผนังด้านบนของอาคาร ปรากฏเป็นเงารูปพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้อย่างชัดเจน สร้างความตื่นเต้นและปราบปลื้มให้กับผู้มาร่วมชมเป็นอย่างมาก
ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรม มช. เจ้าของและผู้ออกแบบผลงาน กล่าวว่า การปรากฏของมุมแสงเพียงชั่วขณะ ณ เวลา 15.52 น. ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ตั้งใจออกแบบและสร้างขึ้นมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และงานเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 2560) วันนี้จึงได้ทำการเปิดตัว
ดร.บุรินทร์ กล่าวอีกว่า แนวคิดที่มาของสิ่งที่ทำ คือ เราเริ่มต้นที่ความเสียใจเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน สิ่งที่เราคิดคือ เราอยากหาวิธีการถวายความรำลึกต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยวิธีการของเรา การที่พระองค์ท่านจากเราไปตลอดกาล แต่พระองค์ท่านกลับไปอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งเราจะใช้แสงเป็นสะพานในการพาท่านให้กลับมาปรากฏตัวกับเราอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นด้วยวิธีคิดนี้ เราจึงอยากสร้างประติมากรรมแสงที่ทุกวันในช่วงเวลา 15.00 -16.00 น. เมื่อเราแหงนหน้าขึ้นมอง เราจะเห็นเงาจากประติมากรรมแสงปรากฏเป็นพระพักตร์ของพระองค์ท่าน และส่งรอยยิ้มมาให้เราครับ
ดร.บุรินทร์ กล่าวอีกว่า เราจึงเลือกวาดรูปด้วยแสง เนื่องจากแสงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนการสอนด้านสถาปัตย์ วัสดุที่เราใช้ ที่เห็นเป็นสีขาวคืออะลูมิเนียมคอมโพสิต ส่วนพื้นหลังเราใช้เหล็กชุบสังกะสีเป็นตัวโครงสร้างเพื่อทำให้ได้โครงสร้างที่น้ำหนักเบาที่สุด ใช้งบประมาณจัดทำ 99,000 บาท
จากตำแหน่งชิ้นงานในช่วงเช้า จะไม่มีแสงมาตกกระทบเลย แต่ช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.00 น. จะมีแสงมาตกกระทบแต่ชิ้นงานยังดูไม่ออกว่าเป็นพระพักตร์ของพระองค์ท่านเลย ภาพจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มสมบูรณ์ตอน บ่ายสามถึงบ่ายสี่โมงเย็น และหลังจาก 16.00 น. ภาพนี้จะเริ่มหายไป ภาพนี้จะสามารถเห็นได้ในทุกวันของทุกฤดูกาล เนื่องจากตัวชิ้นงานสามารถหมุน เพื่อรับองศาพระอาทิตย์ในแต่ละเดือนที่ตำแหน่งของพระอาทิตย์ต่างกันได้ครับ เรามีแกนอยู่ตรงกลาง