ในพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม พระบรมศพ นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ จะมีราชสกุลต่างๆ เข้าร่วมในพิธีด้วย เมื่อว่าด้วยเรื่องลำดับพระยศของเจ้านายนั้น
“เจ้านาย” เป็นกลุ่มสังคมที่ยึดถือ ชาติกำเนิด เป็นหลัก โดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชาติกำเนิด ชาติกำเนิดเป็นตัวบอก สกุลยศ ว่าผู้กำเนิดนั้นเป็นราชบุตร ราชธิดาหรือราชนัดดา การจัดลำดับชนชั้นสูงนั้นถือเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง
ในพระนิพนธ์ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องอธิบายว่าด้วยยศเจ้า ระบุว่า ยศเจ้านายในราชกุศลมี 2 ประเภท ได้แก่ สกุลยศ คือยศที่เกิดมาแล้วเป็นเจ้าในลำดับต่างๆ กับ อิสริยยศ คือยศที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาแต่งตั้งในราชการ
เจ้าที่สกุลยศสูงเรียกว่า “เจ้าฟ้า” มีลำดับศักดิ์ 2 ชั้น ชั้นที่ 1 เจ้าฟ้าซึ่งพระมารดาเป็นพระอัครมเหสี หรือพระธิดา เรียกว่า “ทูลกระหม่อม” ชั้นที่ 2 เจ้าฟ้า ซึ่งพระมารดาทรงศักดิ์รองลงมาเรียกกันว่า “สมเด็จ”
ราชสกุลยศรองลงมาแล้วแต่เจ้าฟ้าลงมาเป็น “พระองค์เจ้า” พระองค์เจ้ามี 3 ชั้น ชั้นที่ 1 คือ ราชบุตร พระราชธิดาอันเกิดด้วยพระสนม ตรงกับที่เรียกในกฎมลเฑียรบาลว่า พระเยาวราช
ชั้นที่ 2 รองลงมาคือ พระราชนัดดา ซึ่งพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าและพระมารดาเป็นเจ้า พระโอรสธิดาของพระมหาอุปราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็นับในพระองค์เจ้า ชั้นที่ 2
พระองค์เจ้าชั้นที่ 3 คือพระราชนัดดา ซึ่งพระบิดาและพระมารดาเป็นองค์เจ้าด้วยกัน หรือพระบิดาเป็นองค์เจ้าฟ้าชั้นที่ 1 แต่มารดามิได้เป็นเจ้า
ลำดับรองแต่พระองค์เจ้าลงมาเป็นหม่อมเจ้า คือพระโอรสธิดาของเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าโดยสกุลยศ
ราชสกุลยศรองหม่อมเจ้าลงมาเป็น หม่อมราชวงศ์ คือโอรสธิดาของพระองค์เจ้า ตั้งราชสกุลยศชั้นรองหม่อมราชวงศ์ลงมาเรียกว่า หม่อมหลวง คือโอรสธิดาของหม่อมราชวงศ์ ราชสกุลยศ นับเพียงหม่อมหลวง เป็นที่สุด
ทั้งนี้ สังคมเจ้านาย ชาติกำเนิดเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยจะมีสิ่งที่แสดงออกในธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่มีข้อกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและแตกต่างกัน โดยความสลับซับซ้อนจะขึ้นอยู่กับชั้นลำดับยศ
ที่มาจากหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและศพพระเจ้านาย
ขอบคุณภาพ คลังประวัติศาสตร์ไทย