เนื้อหาโดย Dodeden.com

lively.mcot.net

ร่างกายคนเราเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ต้องการการหล่อลื่น ถ้าน้ำมันหล่อลื่นดี ร่างกายก็จะทํางานได้ดี ต่อมไทรอยด์ก็เช่นเดียวกัน เพราะต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งควบคุมระบบการทํางานของร่างกายให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญอาหารให้เกิดเป็นพลังงาน หรือความร้อน เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากจนเกินไป ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่าไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ

ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ ผลิตและหลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินไป สาเหตุที่พบบ่อยสุดคือการเกิดภูมิต้านทานต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ ทําให้ไทรอยด์ถูกกระตุ้นตลอดเวลา จึงผลิตฮอร์โมนออกมามาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่สําคัญคืออาการคอพอก เห็นเป็นก้อนโตที่บริเวณลําคอ และอาจมีอาการตาโปนร่วมด้วย

สาเหตุที่พบบ่อยรองลงมาคือต่อมไทรอยด์อักเสบ โดยอาจเกิดจากการติดเ้ชือ เช่น ติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการเจ็บที่ต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย นอกจากนี้การได้รับยาฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ก็ทําให้ไทรอยด์เป็นพิษได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีฮอร์โมนไทรอยด์จําหน่ายสําหรับผู้ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และจําเป็นต้องได้ฮอร์โมนชดเชย แต่ก็มีคนจํานวนหนึ่งที่กินฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อใช้ลดน้ำหนัก เพราะเข้าใจว่าร่างกายจะได้เผาผลาญอาหารได้เยอะ ๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจะมีโทษที่เกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษตามมา เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน เป็นต้น

สุดท้ายที่พบได้แต่ไม่บ่อยคือไทรอยด์เป็นพิษ จากเนื้องอกของต่อมไทรอยด์หรือเนื้องอกบริเวณอื่นๆ ที่สร้างฮอร์โมน เช่น เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น แม้ว่าไทรอยด์เป็นพิษจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ข้อมูลทางการแพทย์พบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายประมาณ 8-9 เท่า โดยเฉพาะในสตรีวัยเจริญพันธุ์อายุตั้งแต่ 16-50 ปี ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดไทรอยด์เป็นพิษนั้น มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง พันธุกรรม และ ภูมิต้านทานของร่างกาย เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงมีความสัมพันธ์กับโรคของภูมิต้านทานผิดปกติ ซึ่งโรคภูมิแพ้ตัวเองมักจะเจอในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไทรอยด์เป็นพิษจึงมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่า และปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป คนเป็นภูมิแพ้เยอะขึ้น ก็มีส่วนทําให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษมากขึ้น เฉลี่ยแล้วในประชากร 4,000 – 5,000 คน จะพบผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ 1 คน 

theptarin.com

อย่างไรก็ตาม คนไข้รายใหม่ๆ ที่ไปพบแพทย์ เมื่อซักถามประวัติในครอบครัวสายตรง มักจะเจอผู้ป่วยจํานวน 8-10 ราย หรือร้อยละ 80 ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ร่วมด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า โรคนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้หญิง มีพี่สาว น้องสาวหรือมารดาเคยป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน ยิ่งต้องระมัดระวังและหมั่นสังเกตความผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมีมากเกินไป ย่อมส่งผลต่อระบบเผาผลาญอาหาร น้ำหนักลดทั้งที่กินจุ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายที่ถูกกระตุ้นให้ทํางานมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยจึงมีอาการตื่นเต้น ตกใจง่าย หัวใจเต้นแรง ใจสั่น มือไม้สั่น นอนไม่หลับ สมาธิสั้น ขี้ร้อน มีเหงื่อออกตลอด โดยเฉพาะเหงื่อออกที่มือ บางรายอาจมีอาการถ่ายท้องบ่อยๆ ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้ออ่อนล้า ผมร่วง เล็บบางหักง่าย ฯลฯ ซึ่งหากใครสงสัยว่าจะเข้าข่ายอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยละเอียด อาการต่างๆ ของไทรอยด์นั้น ถ้าเพิ่งเริ่มเป็นอาจจะไม่รู้ตัว เหมือนคนขี้กังวล แต่ถ้าปล่อยให้อาการหนักเป็นเวลานานอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าหากสงสัยควรมาพบหมอเพื่อตรวจดูอาการ โดยส่วนใหญ่จะมีการตรวจร่างกายก่อนเบื้องต้น เช่น การเต้นของชีพจร ตรวจดวงตาว่ามีความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือมีตาโปนหรือไม่ ตรวจคลําขนาดของต่อมไทรอยด์ที่คอ นอกจากนี้ หมอจะตรวจกล้ามเนื้อว่ามีการอ่อนแรงร่วมด้วยหรือไม่ หากสงสัยว่ามีลักษณะอาการเข้าข่าย จะทําการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนในเลือด จากนั้นจึงทําการ รักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมี 3 วิธีคือ การกินยา ผ่าตัด และดื่มน้ำรังสี

ปัจจุบันการกินยาเพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม และผู้ป่วยเลือกที่จะรักษาด้วยวิธีนี้มากที่สุด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวการผ่าตัด และกลัวสารรังสี ทว่าการกินยาเพื่อรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป การกินยามีข้อเสียตรงที่ต้องกินทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตอนแรกเมื่อเริ่มกินยา แพทย์อาจให้ยาในขนาดสูงวันละหลายเม็ด เพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบ เมื่อกินยาประมาณ 1-2 เดือน อาการไทรอยด์เป็นพิษก็จะหายไป แพทย์จะลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนเหลือขนาดน้อยที่สุดตามแต่อาการ แต่ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะถ้าหยุดยาเร็วเกินไป โอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำก็มีสูงมาก

เรื่องน่าสนใจ