ที่มา: voicetv

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า นางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และรองโฆษก กทม. เปิดเผยว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเตรียมความพร้อมช่วงที่พายุเข้าอย่างเต็มที่

01

มีการควบคุมระดับน้ำในคลองสายหลักให้อยู่ในแผนงานที่กำหนด ตรวจเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลตามสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำพร้อมใช้งานได้ตามปกติ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดอ่อนน้ำท่วม และจัดเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนประสานงานหน่วยงานต่างๆ ผ่านศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมตามจุดอ่อนน้ำท่วม

สำหรับคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงเดือน ต.ค.นั้นจะยังมีฝนประมาณ 13-16 วัน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ส่วนในเดือน พ.ย.58 เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวส่งผลให้ฝนลดลง อุณหภูมิลดง อากาศเริ่มเย็นขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนของประเทศ ยังอยู่ในปริมาณต่ำทุกเขื่อน ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนปาสักชลสิทธิ์ ถือว่าปริมาณน้ำน้อยต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก การปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ ผ่านบางไทร นครสวรรค์ ค่อนข้างน้อยเนื่องจากกรมชลประทานได้เริ่มกักเก็บน้ำไม่ค่อยปล่อยออกมา

02

ขณะนี้พายุมูจีแกได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ประเทศจีนแล้ว คาดว่าจะอ่อนตัวลงเป็นดีเพรสชั่นในวันนี้ อาจมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ บ้างแต่ไม่มากเหมือนที่ผ่านมา แต่จะส่งผลกระทบกับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ พร้อมกันนี้ได้มีการติดตามและเฝ้าระวังพายุชอยวันกำลังก่อตัวในแปซิฟิก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่า กทม.ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกกับประชาชนในจุดต่างๆ ที่เกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย ซึ่งปัจจุบันการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำได้ดีขึ้นเมื่อพิจารณาจาก 4 ประการ ได้แก่

03

  1. ช่วงต้นเดือน ต.ค.มีฝนตกหนัก ปริมาณฝนตกลงมามากเกินกว่าครึ่งของค่าเฉลี่ยเดือน ต.ค.เมื่อปี 54
  2. การระบายน้ำท่วมขังที่รอการระบายในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ นั้น ใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำน้อยกว่าปี 54 มากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะถนนงามวงศ์วานบริเวณตลาดพงษ์เพชร ถึงแม้ในปีนี้จะเกิดไฟดับก็ยังใช้เวลาน้อยกว่าเดิมเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมใช้เวลาระบายน้ำ 6 ชั่วโมง
  3. กรุงเทพมหานครเร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำอย่างเต็มที่ มีการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำด้วยการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ที่บางซื่อ และมีแผนการสร้างเขื่อนที่คลองลาดพร้าว รวมถึงมีแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ และ
  4. ขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะ สิ่งของขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ที่นอน ยางรถยนต์ หรือไขมันจากการประกอบอาหารลงท่อระบายน้ำ คูคลองต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคหรือเกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำ

เรื่องน่าสนใจ