วันนี้ (14 ม.ค.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. แถลงข่าวความคืบหน้าการเสนอร่างกฎหมายของ สธ. ว่า กฎหมายที่ สธ.เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีทั้งหมด 28 ฉบับ
แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 8 ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 4 ฉบับ กรมควบคุมโรค 3 ฉบับ กรมอนามัย 3 ฉบับ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 1 ฉบับ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ฉบับ
และสภาวิชาชีพและสถาบันต่างๆ รวม 4 ฉบับ โดยร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. … เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ผ่าน ครม. เมื่อปี 2557 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบกฎหมายอีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. … ตามที่ สธ. เสนอ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ถือว่าเป็นกฎหมายที่เก่าและล้าสมัยมากแล้ว ประกอบกับภูมิภาคอาเซียนมีข้อตกลงเรื่องเครื่องสำอางที่จะต้องมีระบบการควบคุมเหมือนกันทั้งหมด
จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวระบบ โดยสาระสำคัญในกฎหมายฉบับใหม่นี้ที่เพิ่มขึ้นมามี 4 เรื่อง คือ 1. อนุญาตให้ผสมสารห้ามใช้ลงในเครื่องสำอางเฉพาะการส่งออกขายต่างประเทศได้เท่านั้น ซึ่งกฎหมายเดิมได้ห้ามไว้ ทำให้เกิดผลกระทบ เนื่องจากสารห้ามใช้ที่ประเทศไทยกำหนด บางประเทศอนุญาตให้ใช้ได้
ตรงนี้จึงเป็นการปลดล็อก โดย อย. จะอนุมัติเลขที่การจดแจ้งสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ไม่รวมการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าเศรษฐกิจประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนการผลิตและจำหน่ายในไทยมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า 2. หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ เช่น มาตรฐานการผลิต เป็นต้น ก็จะกำหนดลงไปในกฎหมายชัดเจนว่าสามารถขอได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออก เมื่อ อย. หรือกระทรวงพาณิชย์ของประเทศคู่ค้าขอตรวจสอบสินค้า ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
3.ให้ผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ หาก อย. ไม่ออกใบสำคัญหรือหนังสือรับรองต่างๆ ให้ ซึ่งกฎหมายเดิมไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ และ 4.การคุ้มครองผู้บริโภค จะให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตต้องส่งรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการแพ้เครื่องสำอางเข้ามาด้วย
ซึ่งจากเดิมไม่ต้องรายงาน ซึ่งหากพบว่าผลิตภัณฑ์มีปัญหาก็จะให้อำนาจเลขาธิการ อย. ในการสั่งเรียกเก็บคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงสั่งให้ปรับแก้ไขโฆษณาที่มีการโอ้อวดเกินจริงหรือเป็นเท็จ และเอาผิดโทษตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น
“เดิมทีอำนาจในเรื่องนี้จะเป็นของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอบผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะเอาอำนาจเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดมาให้ อย.ดูแล ซึ่งจะทำให้การตรวจจับโฆษณาโอ้อวดเกินจริง การลงโทษทำได้รวดเร็วขึ้น สามารถมอบอำนาจการลงไปตรวจให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้
ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นอำนาจของ สคบ. ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่บทลงโทษจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น 5 – 10 เท่า เช่น กรณีไม่จดแจ้งเครื่องสำอางโทษจำคุกจากไม่เกิน 1 เดือน ก็เพิ่มเป็นไม่เกิน 6 เดือน ส่วนการเปรียบเทียบปรับก็จะแบ่งความผิดเป็นระยะ เช่น ระยะแรกปรับเท่านี้ ผิดครั้งที่ 2 ปรับเพิ่ม 2 เท่า ส่วนครั้งที่ 3 เพิ่มเป็น 2 เท่าของครั้งที่ 2 และหากยังทำผิดอีกก็อาจปรับเต็มเพดาน” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
สำหรับการเฝ้าระวังคำโฆษณาที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางนั้น ยังคงยึดหลักเกณฑ์เดิมคือไม่มีการตรวจสอบคำโฆษณาก่อน แต่ อย. เตรียมที่จะนำคำที่ห้ามโฆษณาทั้งหมด ซึ่งมีระบุไว้ในคู่มือสำหรับผู้ประกอบการที่มาจดแจ้งอยู่แล้วออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าสู่คณะกรรมการเครื่องสำอางพิจารณา