หลังกรมการขนส่งทางบกออกประกาศเรื่องการจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะ 13 ที่นั่ง ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเษกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ล่าสุด นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 ตามคำสั่งมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
โดยภายในวันที่ 10 เม.ย.นี้รถตู้โดยสารประจำทางรวม 15,808 คัน ประกอบด้วย เส้นทางหมวด 2 (กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ไม่เกิน300 กิโลเมตร) ประมาณ 5 พันกว่าคัน หมวด 1 (กรุงเทพฯ-ปริมณฑล) 5 พันกว่าคัน หมวด 3(ภูมิภาคระหว่างจังหวัด) 3 พันกว่าคัน และ หมวด 4 (วิ่งภายในจังหวัดและในซอย ไม่ใช่เส้นทางหลัก)กรุงเทพฯ 126 คัน และต่างจังหวัด 1,900 คัน ต้องปรับที่นั่งออกให้เหลือ 13 ที่นั่ง เพื่อคุมเข้มความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ และจะเริ่มบังคับใช้กฎหมาย จับ ปรับ ในอัตราเบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2560 เป็นต้นไป
สำหรับผู้ฝ่าฝืนกรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการเอาผิด 2 ส่วนคือ จับปรับไม่เกิน 5 พันบาท และมาตรการด้านทะเบียน ที่จะผ่อนผันการบังคับใช้ก่อน คือเน้นปรับในอัตราน้อยไม่เกิน 500 บาท เพื่อเตือนผู้ประกอบการและสร้างความเข้าใจ ส่วนมาตรการทางทะเบียนจะเริ่มจากเบาไปหนัก เช่น ไม่ออกใบเวลาเดินรถ ระงับหรือพักใช้ใบอนุญาตขับรถ และใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ไม่เกิน 6 เดือน
ในส่วนของการปรับที่นั่งนั้น ผู้ประกอบการสามารถทำได้เองด้วยการขันน็อต รื้อเบาะออก หรือไปที่ร้านประดับยนต์ หรือตามอู่ ซึ่งได้ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.สั่งให้ขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งเตือนผู้ประกอบการ ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ ตามนโยบายของรัฐบาล