กรมควบคุมโรค เตือนสูบบารากู่ระวังติดโรค นิโคตินสกัดนำเข้าจำหน่ายผิดกฎหมาย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนการสูบบารากู่อันตรายอาจจะได้รับควันจากการสูดดมเทียบเท่ากับบุหรี่ 100 มวน ทั้งอาจติดโรค เช่น วัณโรค ตับอักเสบบี หากใช้ท่อดูดร่วมกัน การนำสารสกัดนิโคตินมาจำหน่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันไม่อนุญาตการนำเข้าและการจำหน่ายนิโคตินสกัดในประเทศไทย
วันนี้ (13 กรกฎาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยเยาวชนหลงสูบบารากู่ โดยเข้าใจผิดว่าเป็นการสูบควันผลไม้ ซึ่งหอมน่ารับประทาน แต่จากที่กรมควบคุมโรคส่งตัวอย่างผลไม้แห้งในบารากู่ไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบทุกตัวอย่างมีส่วนผสมของสารนิโคติน สารนี้หากเสพในขนาดต่ำๆ จะกระตุ้นระบบประสาททำให้ผู้เสพ รู้สึกมีความสุข แต่ถ้าเสพบ่อยๆ จะต้องเพิ่มขนาด เนื่องจากนิโคตินเป็นสารเสพติด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า นิโคตินสามารถเสพติดได้ง่ายเท่ากับเฮโรอีนและยังพบว่าผู้ที่เสพนิโคตินมีอันตรายเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ สูงกว่าผู้ที่ไม่เสพนิโคติน
สำหรับบารากู่นั้น เป็นเครื่องสูบบุหรี่ผ่านน้ำ(Water pipe) เป็นที่นิยมในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน และแพร่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยต้นตำหรับจะมีการนำยาเส้นมาบดผสมเนื้อผลไม้แห้ง แล้วสูดดมกลิ่นควัน ปัจจุบันในประเทศไทยมีความพยายามหลบเลี่ยงกฎหมายบุหรี่ จึงไม่มีการใช้ยาสูบ หรือยาเส้นล้วนๆ มาผสม แต่จะใช้สารสกัดนิโคตินในรูปของเหลวมาผสมลงในผลไม้แห้งแทน วิธีการสูบจะนำผลไม้แห้งที่ผสมนิโคตินไปใส่ในถ้วยเฉพาะที่เหมือนเป็นเตาตรงกลาง เอาฟอยด์หุ้มเจาะรู นำถ่านที่ติดไฟแล้ววางบนฟอยด์ ความร้อนจะไปเผาตัวยาให้ละลายและเกิดควัน จากนั้นจึงเริ่มสูบควันโดยควันจะลงไปผ่านน้ำก่อนแล้วเข้าท่อนำเข้าปาก การสูบผ่านน้ำนั้นหลายคนคิดว่าจะเป็นการลดอันตรายจากการเผาไหม้ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด การสูบผ่านน้ำเป็นเพียงเพื่อลดความร้อนของควันเท่านั้นมิได้ลดอันตรายใดๆ จากการพบนิโคตินผสมในผลไม้แห้งที่ใช้สูบบารากู่นี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องหาทางคุ้มครองเยาวชนให้ทันต่อนวัตกรรมการสูบสารนิโคตินด้วยวิธีการอื่นๆ เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการปกป้องสุขภาพและให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของบุหรี่และนิโคติน
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงพิษภัยของการบริโภคยาสูบผ่านน้ำ ดังนี้ 1.การใช้เครื่องสูบผ่านน้ำ(Water pipe) เพื่อสูบยาสูบจะเป็นการนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง และเป็นอันตรายต่อผู้อื่นที่สัมผัสควันที่ปล่อยออกมา 2.แม้ว่าควันจะผ่านน้ำลงไปแล้วก็ตาม ยังคงมีสารพิษในระดับสูงอยู่ รวมทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนักและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ความร้อนในการเผาไหม้ เช่น ถ่านไม้ หรือถ่านอื่นๆ จะทำให้เกิดสารพิษเช่นกัน 3.หญิงตั้งครรภ์หากสูบหรือสัมผัสควัน ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ 4.การสูบโดยใช้เครื่องสูบ(Water pipe) โดยใช้ท่อดูดร่วมกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อ เช่น วัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น และมีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปากด้วย เนื่องจากการสูบบารากู่ มีรสหวาน กลิ่นหอม จึงยั่วยวนใจวัยรุ่นให้อยากลอง และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ การสูบบารากู่นี้ แต่ละครั้งมักจะใช้เวลาในการสูบนาน โดยปกติผู้สูบบุหรี่ซิกาแรตทั่วไปจะสูด-พ่นควันประมาณ 8-12, 40-75 มิลลิลิตร ในช่วงเวลา 5-7 นาที และจะสูดดมควันเข้าร่างกายประมาณ 0.5-0.6 ลิตร หรือบางคนอาจถึง 1 ลิตร ส่วนการสูบบารากู่ จะใช้เวลาในการสูด-พ่นควันประมาณ 20-80 นาที ดังนั้น ในการสูบแต่ละครั้ง ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันภัยจากบุหรี่ตระหนัก ถึงพิษภัยของบารากู่ แต่ไม่สามารถเอาผิดการสูบบารากู่ได้เหมือนการสูบบุหรี่ เนื่องจากตัวยาไม่มีลักษณะเป็นยาเส้น รวมทั้งเยาวชนหลงผิดคิดว่าการสูบบารากู่เป็นการสูบผลไม้ ไม่ใช่สูบบุหรี่และไม่ทราบว่ามีการผสมสารเสพติด คือนิโคติน ที่จะทำให้อยากสูบในครั้งต่อๆ ไป
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน จำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบขึ้นใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำเป็นร่างเรียบร้อยแล้ว ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว และกำลังปรับแก้ข้อความตามความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าในปีหน้าการแก้ไขร่างดังกล่าวคงจะเรียบร้อยเสนอผ่านสภาได้ แต่อย่างไรก็ตามขณะที่ยังไม่สามารถปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนด้วยกฎหมายได้นั้น ปัจจุบันได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อนุญาตการนำเข้า รวมถึงการจำหน่ายสารสกัดนิโคตินในประเทศ ยกเว้น หมากฝรั่งอดบุหรี่ และแผ่นแปะนิโคตินที่ได้ขึ้นทะเบียนยาเพื่อลดการติดบุหรี่เท่านั้น ดังนั้น การจำหน่ายนิโคตินสกัดที่จำหน่ายควบคู่กับเครื่องสูบยาชนิดต่างๆ และที่นำมาผสมในผลไม้แห้งเพื่อนำมาสูบบารากู่นั้น จึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 02-5809264