เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 28 พฤสจิกายน ที่ โรงแรมเดอะ สุโกศล นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วย ดร. เสรี นนทสูติ และ มีส แซนดร้า เดอ วอล์ (Ms. Sandra De Waele) หัวหน้าฝ่ายการเมือง สื่อและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….. ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดประชุมสมาคม ILGA (International lesbian, gay, bisexual, trans and intersex association) ระดับโลก ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาการและความก้าวหน้าเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การรระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ ได้ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยจัดกิจกรรมในวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” และล่าสุดได้ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences: AFRIMS) จัดการประชุมสมาคม ILGA (International lesbian, gay, bisexual, trans and intersex association) ระดับโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 ที่ โรงแรมสุโกศล ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลก จำนวนประมาณ 500 คน และในวันนี้ได้มีกิจกรรม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ…..
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า ซึ่งร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ คือ การให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ บุคคลที่มีวิถีทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เสมือนคู่ชีวิตหญิงชายทั่วไป และมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการรับมรดก สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล ฯลฯ ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ผ่านการประชาพิจารณ์จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 5 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค และครั้งสุดท้ายที่รัฐสภา ปรากฏว่าในภาพรวมมีผู้เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 78.65 ไม่เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 10.93 และไม่แสดงความคิดเห็นคิดเป็นร้อยละ 10.42
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้นำร่างพระราชบัญญัติการจดทะบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. มาทบทวนให้มีความสมบูรณ์ และครอบคลุมสิทธิต่างๆ ที่คู่ชีวิตควรจะได้รับมากยิ่งขึ้น เช่น สิทธิหน้าที่ของคู่สมรส การอุปการะเลี้ยงดู สิทธิในทรัพย์สิน ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต การสิ้นสุดของการเป็นคู่ชีวิต เป็นต้น และต่อมาได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. … ขึ้นซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 42 คน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน โดยที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวร่วมกัน รวมทั้งได้มีการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางต่อการปรับปรุง จากนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุง ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 หมวด 63 มาตรา ดังนี้ หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 5-13) หมวด 2 ความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต (มาตรา 14-17) หมวด 3 ทรัพย์สินและมรดกของคู่ชีวิต (มาตรา 18-49) หมวด 4 ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 50-56) หมวด 5 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 57-67) และปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงยุติธรรม