ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมแถลงข่าว “ผลการตรวจวิเคราะห์กัญชา ของกลางเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์กัญชา ของกลางในโครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยต่อไป
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมได้ประสานความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบกัญชาของกลางจากกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในโครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ โดยในวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ได้ส่งตัวอย่างวัตถุดิบกัญชาแห้ง จำนวน 3 ตัวอย่าง มาตรวจที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 แห่ง คือ ห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด เพื่อทำการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของยาฆ่าเชื้อรา difenoconazole และ propioconazole และห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร เพื่อทำการวิเคราะห์ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 60 ชนิด ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorine group) กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส (organophosphorus group)กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ (pyrethroid group) และ กลุ่มคาร์บาเมต (carbamate group) และโลหะหนักปนเปื้อน ได้แก่ ตะกั่ว (lead) ปรอท (mercury) สารหนู (arsenic) และแคดเมียม (cadmium)
ผลการวิเคราะห์มีรายละเอียดผลการตรวจ ดังนี้
(1) ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าเชื้อรา difenoconazole และ propioconazole ในตัวอย่างวัตถุดิบ กัญชาแห้งทั้ง 3 ตัวอย่าง
(2) ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช chlorpyrifos และ cypermethrin ในตัวอย่างวัตถุดิบกัญชาแห้ง
ทั้ง 3 ตัวอย่าง
(3) ตรวจพบโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม ในตัวอย่างวัตถุดิบกัญชาแห้งทั้ง 3 ตัวอย่าง
ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 องค์การเภสัชกรรมได้ส่งสารสกัดกัญชา 1 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง และโลหะหนักดังกล่าว ผลการตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช chlorpyrifos และ cypermethrin และพบโลหะหนัก 2 ชนิด คือ ปรอท และสารหนู
สรุปได้ว่า วัตถุดิบกัญชาของกลางทุกตัวอย่างจึงมีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะนำมาผลิตเป็นยาเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย จะสังเกตเห็นได้ว่าทุกตัวอย่างมียาฆ่าแมลง Chlorpyrifos ซึ่งยาฆ่าแมลงชนิดนี้เป็นที่นิยมของเกษตรกร หากร่างกายได้รับสาร Chlorpyrifos จะมีพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น มีผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทในเด็ก มีผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัว แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน และระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น
ด้าน ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การตรวจพบสารปนเปื้อนนั้น นับเป็นเรื่องดีเพราะทำให้ทราบถึงคุณภาพของกัญชาของกลางที่จับกุมมาได้ว่ายังไม่ได้คุณภาพที่จะนำมาใช้สำหรับทำเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์การฯ ยึดถือมาตลอด ในกระบวนการวิจัยและผลิตยาที่จะไม่ยอมให้สิ่งที่ไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัยถึงผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด ข้อดีของการนำกัญชาของกลางมาใช้ในการวิจัยคือนักวิจัยสามารถทดลองพัฒนากรรมวิธีการสกัดเพื่อให้ได้กระบวนการสกัดที่เหมาะสมสำหรับการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์และเพื่อวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม องค์การฯ ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การวิจัยได้สารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์เดินหน้าต่อไปไว้ 2 แนวทาง คือ 1) องค์การฯจะคัดเลือกวัตถุดิบกัญชาของกลางจาก บช.ปส. เพิ่มเติม โดยในเบื้องต้นได้ประสานงานให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนก่อนที่จะรับวัตถุดิบกัญชาของกลางจาก บช.ปส.เพื่อให้ได้วัตถุดิบกัญชาของกลางที่มีคุณภาพไม่มีการปนเปื้อน ด้วยเล็งเห็นว่ากัญชาของกลางยังน่าจะมีประโยชน์มากกว่าการนำไปเผาทำลาย 2) เร่งดำเนินการปลูกกัญชาในพื้นที่ขององค์การฯ เอง ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ จะดำเนินงานคู่ขนานพร้อมกัน เพื่อให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพโดยเร็วสำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยกับกลุ่มผู้ป่วยในโครงการต่อไป
“องค์การฯ ก็ยังคงเดินหน้าวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์โดยเร็ว เพราะทุกฝ่ายคาดหวังและรอคอยอยู่ ซึ่งองค์การฯ ยังต้องมีงานอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การวิจัยพัฒนาสารสกัดจากกัญชาของกลางในระดับห้องปฏิบัติการ การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและการปรับปรุงอาคารที่องค์การเภสัชกรรม คลอง 10 จ.ปทุมธานี สำหรับใช้เพาะปลูก คัดเลือกสายพันธุ์ ปรับปรุงสายพันธุ์ และผลิตสารสกัดในระดับกึ่งอุตสาหกรรม การสำรวจพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูก สกัด และผลิตกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรที่ อ.หนองใหญ่ จ ชลบุรี นอกจากนั้นคณะทำงานทั้ง 4 คณะจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้า เป็นประจำทุกเดือนและอาจจะต้องมีการประชุมกันมากขึ้น เพราะคาดว่าการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้กัญชา ใช้ทางแพทย์ได้จะทยอยออกมาในเร็วๆ นี้” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าว