ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 3 กรกฎาคม 2560 ) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่ว่า ปัจจุบันเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากสายพันธุ์ A (H5N1) ได้อุบัติขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลายชนิดได้แพร่จากสัตว์ปีกมาสู่คน และบางชนิดก่อให้เกิดโรครุนแรง และยังมีหลายประเทศที่ยังคงพบการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ ในสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง
บางประเทศในทวีปอเมริกาและยุโรปเริ่มพบไข้หวัดนกสายพันธุ์แบบรุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza; HPAI) เป็นครั้งแรก ทั่วโลกจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดใหญ่เช่นเดียวกันกับไข้หวัดนกสายพันธุ์ A(H5N1)
ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก A(H5N1) จำนวนทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกรายสุดท้ายในปี พ.ศ.2549 แต่เนื่องจากยังคงพบโรคไข้หวัดนกระบาดในคนและสัตว์ปีกในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย
กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ เช่น A(H7N9) ด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเครือข่ายห้องปฏิบัติการจึงให้ความสำคัญและมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ทำให้ระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยมีศักยภาพในการตรวจจับหาเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์สุขุม กล่าวอีกว่า ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งในภูมิภาค ให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ป่วยที่เข้านิยามเฝ้าระวังสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และยึดแนวทางการตรวจวิเคราะห์ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้สามารถตรวจจับเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่างทันการณ์
โดยตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดนกด้วยวิธี Realtime RT-PCR ซึ่งให้ผลเร็ว มีความจำเพาะสูง สามารถแยกเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ออกจากกันได้ แต่ในกรณีที่เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อน จะไม่สามารถจำแนกสายพันธุ์ย่อยได้ ต้องใช้วิธีหรือเทคนิคที่สูงกว่า เช่น การหาลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนที่สำคัญ ด้วยวิธี conventional gene sequencing หรือ next generation sequencing เป็นต้น
“กรณีที่เป็นผู้ป่วยที่เข้านิยามเฝ้าระวังสงสัยไข้หวัดนกแต่ตรวจไม่พบเชื้อ ห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข สามารถตรวจหาไวรัสและแบคทีเรียก่อโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวม 26 ชนิดด้วยวิธี Realtime RT PCR
ประกอบด้วย เชื้อไวรัส 16 ชนิด 3 Flu A subtypes และแบคทีเรีย 7 ชนิด (Flu A, Flu B, Respiratory syncytial virus A&B, Flu A-H1, Flu A-H1 pdm09, Flu A-H3, Enterovirus, Adenovirus, Parainfluenza virus 1-4, Metapneumovirus, Bocavirus, Rhinovirus, Coronavirus NL63, Coronavirus 229E, Coronavirus OC43, Mycoplasma pneumoniae , Chlamydia pneumoniae , Legionella pneumophila , Haemophilus influenzae , Streptococcus pneumoniae , Bordetella pertussis และ Bordetella parapertussis)
ดังนั้นในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ท่านที่มีอาการไอ ไข้ มีเสมหะ ปวดเมื่อยตามตัว หรือมีอาการในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ มีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกไม่ชัดเจน สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อหาไวรัสหรือแบคทีเรียก่อนได้และถ้าสงสัยไข้หวัดนก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยได้ภายใน 24 ชั่วโมง” นายแพทย์สุขุมกล่าว