นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) เป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้เร็วขึ้น จากกรณีที่มีการใช้ชุดตรวจ ATK แล้วเกิดผลผิดพลาดทั้งแบบ บวกลวง ลบลวงนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอย้ำแนวทางการใช้ชุดตรวจ ATK สำหรับตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ด้วยตนเอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ใช้ตรวจผู้ที่มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจและสงสัยว่าจะเป็นโรคโควิด 19 ได้แก่ มีไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5°C ขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ เพื่อช่วยในการคัดกรองเบื้องต้นก่อนการสู่ระบบดูแลรักษา นอกจากนี้ชุดตรวจ ATK ยังใช้ตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งที่มีหรือไม่มีอาการหลังจากสัมผัสโรคมาแล้ว 3-5 วัน หรือตรวจติดตามเป็นระยะตามความจำเป็นเช่นทุกสัปดาห์ รวมทั้งใช้ตรวจเพื่อการเฝ้าระวังการติดเชื้อในสถานประกอบการ สถานบริการ หรือสถานที่ต่างๆ (COVID free setting) เช่น โรงงาน ตลาด โรงเรียน เป็นต้น โดยมีความถี่ของการตรวจเป็นไปตามข้อแนะนำ ในเบื้องต้นสามารถตรวจได้ทุกสัปดาห์หรือถี่กว่านั้นตามความจำเป็น
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนใช้ชุดตรวจ ATK คือ ต้องเลือกใช้ชุดตรวจที่ผ่านการประเมินและได้รับอนุญาตจาก อย.แล้วเท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/ ตรวจชื่อชุดตรวจใช้จัดเจน เพราะชุดตรวจไม่ได้มาตรฐานที่มักจะลอกเลียนแบบชื่อหรือมีรูปที่ซองบรรจุ เพื่อให้มั่นใจว่าชุดตรวจมีคุณภาพมาตรฐาน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เก็บตัวอย่างตามที่ชุดตรวจกำหนด เช่น หากชุดตรวจกำหนดให้เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก (Nasal swab) ให้เก็บตัวอย่างจากรูจมูกทั้งสองข้าง โดยสอดปลาย swab ลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตรและปั่นข้างละ 5 รอบ หรือหากชุดตรวจกำหนดให้เก็บจากตัวอย่างจากน้ำลาย (Saliva) ก็ให้เก็บตัวอย่างจากน้ำลายเท่านั้น และขอให้ผู้ใช้อ่านเอกสารกำกับก่อนเริ่มทำการตรวจและปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอ่านผลแถบสีตามระยะเวลาที่ชุดตรวจกำหนด
สำหรับการอ่านผลการตรวจ ตลับชุดตรวจต้องมีแถบสีเกิดขึ้นบริเวณตัว C หากมีแถบขึ้นที่ตัว T ร่วมด้วย หมายถึงผลบวก หากไม่มีแถบขึ้นที่ตัว T คือผลลบ แต่ถ้าไม่เกิดแถบที่ตัว C แสดงว่าชุดตรวจนั้นใช้ไม่ได้ ต้องทำการตรวจใหม่ กรณีที่ผลบวกลวง สาเหตุอาจมาจากชุดตรวจไม่ผ่านคุณภาพมาตรฐาน อย. แต่หากเป็นชุดที่ผ่าน อย. แล้วเกิดผลบวกลวงจะเกิดขึ้นน้อยมาก สาเหตุอาจเกิดจากการปนเปื้อนของพื้นที่ที่ทำการตรวจ หรืออ่านผลไม่ตรงเวลา ดังนั้นผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ในกรณีที่ไม่มีอาการป่วย อาจเป็นผลบวกลวงได้ กรณีที่พบผลบวกเป็นกลุ่มก้อน (cluster) ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบ และหากเป็นกรณีที่ต้องรักษาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอื่น ควรตรวจยืนยันด้วย real-time RT-PCR และประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา
กรณีที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตรวจ ATK เป็นผลลบ มีโอกาสเป็นลบลวงได้ โดยอาจอยู่ในระยะฟักตัวช่วงวันแรกๆ เชื้อมีอยู่จำนวนน้อย ควรทำการกักตัวไว้ก่อน และหากปรากฏอาการของโควิดระหว่างกักตัวควรทำการทดสอบซ้ำทันที หรือทดสอบซ้ำอีกในช่วง 3-5 วัน และหากจำเป็นสามารถทำได้เป็นระยะๆ
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติตนหลังทราบผลการทดสอบ สำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อตรวจแล้วสามารถรายงานผลการตรวจด้วยตนเองได้ในโปรแกรมที่กำหนด เช่น แอพพลิเคชั่น H4U ของกระทรวงสาธารณสุข หรือรายงานผลผ่าน อสม. ที่ใช้แอพพลิเคชั่น SMART อสม. หากผลตรวจเป็นบวกให้แจ้งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือให้แจ้งต่อระบบบริการออนไลน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทรสายด่วน 1330 สถานประกอบการ ให้ดำเนินตามมาตรการ Bubble and Seal โดยแจ้งประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่สถานศึกษา ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการ D-M-H-T โดยแจ้งประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่