กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนภัยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ สัตวแพทย์ บุคลากรที่ทำงานในสถานบำบัดโรคสัตว์ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการ บุคคลทั่วไปที่ต้องเดินทางเข้าไปในถิ่นที่มีโรค พิษสุนัขบ้า ชุกชุม รวมถึงผู้ใจบุญที่คอยดูแลสัตว์จรจัด เป็นต้น อาจได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัขหรือสัตว์ใกล้ตัว เพื่อการป้องกันที่ดีที่สุด กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับเซรุ่มแก้พิษสุนัขบ้า (Rabies Immunoglobulin) เมื่อมีการสัมผัสสัตว์ใกล้ชิดที่อาจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการสัมผัสน้ำลายหรือสิ่งคัดหลังจากสัตว์กัดหรือข่วนเป็นรอยช้ำ เป็นแผลถลอก สัตว์เลียบาดแผลเปิดที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีการสัมผัสสุนัขหรือสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติ ได้แก่ สัตวแพทย์ บุคลากรที่ทำงานในสถานบำบัดโรคสัตว์ ผู้ทำงาน ในห้องปฏิบัติการ บุคคลทั่วไปที่ต้องเดินทางเข้าไปในถิ่นที่มีโรคพิษสุนัขบ้าชุกชุม รวมถึงผู้ใจบุญที่คอยดูแลสัตว์จรจัด เป็นต้น

ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้โดยการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมหลังสัมผัสโรค (Post-exposure program) ร่วมกับ เซรุ่มแก้พิษสุนัขบ้า (Rabies Immunoglobulin) สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง การได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมก่อนการสัมผัสโรค (Pre-exposeure program) เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำเมื่อสัมผัสโรคหรือสงสัยว่าสัมผัสโรค ซึ่ง การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า และ เข้ามารับวัคซีนป้องกันโรคยัง เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

นายแพทย์สุขุม  เผยอัตราเกิดโรค พิษสุนัขบ้า เพิ่มขึ้น

นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากปี 2558-2560 มีรายงานโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 330, 614 และ 843 ตัว ตามลำดับ เป็นสุนัข 89.11% โคกระบือ 6.61% แมว 3.57% และสัตว์อื่นๆ0.71% และอัตราการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศไทยจากโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2558-2560 คือ 5, 14 และ 8 ราย ตามลำดับ

ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.2561 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตรายแรกแล้วเป็นครูโรงเรียนบ้านลำชี ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่เป็นคนรักสัตว์มาก โดยเฉพาะสุนัข ซึ่งเลี้ยงไว้ในบ้านถึง 5 ตัว และยังชอบนำอาหารไปเลี้ยงสุนัขจรจัด บริเวณรอบชุมชนโพธิ์ร้าง เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์อยู่เป็นประจำ ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจึงมีความจำเป็นทั้งกลุ่มเสี่ยงและสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันตัวคุณเองและสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันชีววัตถุ ทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลางของประเทศ ได้ควบคุมคุณภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับมนุษย์และสัตว์ รวมถึงเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ทั้งสองมีความปลอดภัย มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถป้องกันโรคให้กับประชาชนและสัตว์ได้ ส่งผลถึงการป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สนับสนุนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

เรื่องน่าสนใจ