ภาพแบบจำลอง พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ที่ใช้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จัดทำโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ได้เผยแพร่ให้ถึงความงดงาม พระเมรุมาศ ทรงบุษก 9 ยอด สูง 50 เมตร 49 เซนติเมตร เป็นตามหลักโบราณราชประเพณีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้แนวคิดคติไตรภูมิ คัมภีร์พุทธศาสนา ความเชื่อพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมติเทพตามระบบเทวนิยม มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น บนยอดคือพระนพปฎลเศวตฉัตร ถัดมาคือพระวิสูตร หรือ ม่านขนาดใหญ่ รวมทั้งฉากบังเพลิง ผังพื้นที่โดยรอบ เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้ง 4 ด้าน ฐานยกพื้นสูง 3 ชั้น ชั้นบน ทั้งสี่ประกอบด้วยซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอนห้าชั้น
สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่2 ประกอบด้วยซุ้ม ทรงบุษกรูปแบบเดียวกัน คือ หอเปลื้อง รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด และด้วยศิลปกรรมอาคารฉัตร สัตว์หิมพาน งานเขียนฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อย่างสมพระเกียรติ โดยคณะออกแบบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระศพ พระราชวงศ์จักรีมาแล้ว 3 พระองค์ หีบพระบรมศพจันทร์และพระบรมโกศจันทร์ ถูกแบบออกลวดลายกนก ลวดลายไทยชั้นสูง โดยนายช่างกรมศิลปกรรมอาวุโส
แบบจำลองนี้ทำให้เห็นรายละเอียด ทั้งโครงสร้าง ตำแหน่ง และสี คล้ายกับองค์จริงมากที่สุด สีที่ใช้ส่วนใหญ่คือ สีทอง รองลงมาคือสีเหลือง ขาว น้ำเงิน ชมพู และสีเทา ส่วนภาพมุมสูงเผยให้เห็นถึงบริเวณโดยรอบที่ประกอบด้วยอาคาร พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นที่ประทับบำเพ็ญพระราชกุศล และศาลาลูกขุน ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตรให้เป็นที่พักข้าราชการ และทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก ขณะการออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบ ได้จำลองโครงการพระราชดำริ สร้างสระน้ำกังหันชัยพัฒนา และเครื่องดันน้ำบริเวณท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีจะสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 7,400 คน
ทั้งนี้ การจัดนิทรรศการภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะให้ประชาชนได้ศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศด้านช่างสิบหมู่และความงดงามของ สิ่งปลูกสร้างและส่วนประกอบทั้งหลายที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นระยะเวลา 30 วัน
สำหรับการจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เพื่ออัญเชิญพระบรมศพ พระโกศพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร กำหนดไว้ 6 ขบวน โดยจะมีการฝึกซ้อมย่อยและฝึกซ้อมใหญ่ในสถานที่จริงเพื่อให้มีความพร้อมเพรียงและสง่างามสมพระเกียรติยศ
การจัดแสดงมหรสพสมโภช ประกอบด้วย การจัดแสดงโขนหน้าไฟหน้าพระเมรุมาศ เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร – ยกรบ – รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ การแสดงมหรสพสมโภชบริเวณท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย การแสดงหนังใหญ่และโขนพระราชทาน ตอน รามาวตาร การแสดงละคร หุ่นหลวงและหุ่นกระบอก และการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า”
การจัดนิทรรศการ “เย็นศิระเพราะพระบริบาล” รวมไปถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจการทรงงานในแต่ละพื้นที่ของจังหวัด นิทรรศการด้านการพระราชไมตรีที่เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
การจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของภาคประชาชน โดยจะดำเนินการทั้งในกรุงเทพมหานคร จังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ตลอดจนในต่างประเทศด้วย ซึ่งในกรุงเทพมหานครจะจัดตั้งซุ้มถวายดอกไม้จันทน์บริเวณใกล้ท้องสนามหลวง 11 ซุ้ม และตามมุมเมือง 4 ซุ้ม ซุ้มขนาดกลางตามแนวถนนราชดำเนินและถนนอรุณอมรินทร์ 19 ซุ้ม และซุ้มขนาดเล็กตามวัดต่าง ๆ 67 ซุ้ม ส่วนภูมิภาคมีซุ้มขนาดใหญ่ 16 ซุ้ม (อำเภอร่วมกับจังหวัด) และซุ้มขนาดกลางทุกอำเภอ วัดต่าง ๆ 802 ซุ้ม
ส่วนในต่างประเทศจะมีซุ้มขนาดกลาง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุล 96 ซุ้ม และซุ้มขนาดเล็กตามวัดไทย 539 ซุ้ม รวมทั้งยังได้เชิญชวนจิตอาสาร่วมกันทำดอกไม้จันทน์เพื่อใช้สำหรับประชาชนที่ไปร่วมงานสามารถนำดอกไม้จันทน์ไปถวายได้