วันนี้ (16 กันยายน 2559) ที่หอประชุมกองทัพเรือ กทม. นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลขยายผลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับดี ประจำปี 2559
จาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือ ก.พ.ร. จากผลงานการขยายผลตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ ซึ่งใช้หลักประชารัฐ ร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ พัฒนาสุขภาพประชาชนในพื้นที่ทุกมิติ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ กรมสบส.ได้ใช้รูปแบบการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพดี วิสาหกิจชุมชนยั่งยืน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพและเป็นการต่อยอดแนวคิดการสาธารณสุขมูลฐานให้เป็นเรื่องของชุมชน กำหนดเป้าหมายบริหารจัดการและวัดผลสำเร็จด้านสุขภาพด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพและจัดการระบบสุขภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง
โดยใช้หลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เน้นจากรากฐานหมู่บ้านชุมชนและพื้นที่เป็นตัวตั้ง ขยายผลเชื่อมโยงขึ้นสู่ระดับประเทศ โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการจัดการที่เข้มแข็งทั้งมิติสุขภาพและมิติอื่นๆตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ ให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ มีรายได้ มีสุขภาพดี มีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน
เริ่มผลักดันในปี 2555 อำเภอละ 1 ตำบลรวม 878 ตำบล ขยายผลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และในปี 2559 เป้าหมาย 4,353 ตำบล หรือร้อยละ 60 ของอำเภอทั้งหมด ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ยกระดับเป็นตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559ด้วย
ผลการพัฒนาในรอบ 4 ปี มานี้ ได้ผลน่าพอใจอย่างยิ่ง โดยในปีนี้ได้พัฒนาเป็นตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการทุกแห่งรวม 7,255 ตำบล ลดความซ้ำซ้อนทำงานในพื้นที่ การดำเนินงานท้องถิ่นจะร่วมกันค้นหาปัญหาสุขภาพและร่วมกันกำหนดมาตรการแก้ไขของชุมชนเป็นแผนของตำบล เกิดเป็นนวัตกรรมการส่งเสริม ป้องกันและจัดการสุขภาพในชุมชน ขณะนี้มีตำบลจัดการสุขภาพที่มีผลงานอยู่ในระดับดีเยี่ยมเป็นต้นแบบในจังหวัด รวม 2,200 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 38 และอีกร้อยละ 57อยู่ในระดับดีถึงดีมาก
เคยได้รับรางวัลอย่างมากมาย เนื่องจากความทุ่มเทในการทำงานหนักเพื่อประชาชน
สำหรับกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นแก้ไขครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ เริ่มจากการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งมีประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคนทั่วประเทศ ให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมในชุมชน และขยายผลไปยังกลุ่มวัยอื่นๆ
ได้แก่ แม่และเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ อสม. มีขีดความสามารถเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน จำนวน 50,000 คน ร่วมขับเคลื่อนตำบลจัดการสุขภาพอย่างเข้มแข็งร่วมกับเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพรายกลุ่มวัย ลดความเสี่ยงการเกิดโรควิถีชีวิต 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และอุบัติเหตุ รวมทั้งปัญหาหลักๆของพื้นที่ ซึ่งจะมีการทำงานร่วมระหว่างองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และอสม.
ทั้งนี้ตัวอย่างความสำเร็จของตำบลจัดการสุขภาพดีเยี่ยมที่เป็นต้นแบบการมีส่วนร่วม เช่นที่ ต.บ้านดู่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ใช้ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน เป็นป้อมเบาหวาน ให้บริการผู้ป่วยเบาหวานแบบครบวงจรโดยอสม.เชี่ยวชาญและเป็นศูนย์กลางปรับพฤติกรรมสุขภาพ ลดกินหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกาย ที่จ.กาญจนบุรี
เช่นที่ ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน ประชาชนร้อยละ 88 ของตำบลมีสุขภาพดี มีรายได้เพิ่ม 12 ล้านกว่าบาท ลดรายจ่าย 9 ล้านกว่าบาท ชุมชนมีเงินออม 3.5 ล้านบาท ประชาชนมีความสุขมวลรวมเฉลี่ยร้อยละ 91 และที่จ.ตรังเช่นที่ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน ชุมชนได้พัฒนาแสตมป์คุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้จำนวนผู้ป่วยเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลขยายผลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับดี ประจำปี 2559 ครั้งนี้มีข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ตามไปเชียร์กันมากมาย