นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้ความสำคัญการสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งและอบอุ่น เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต และป้องกันปัญหาความรุนแรงในสังคม เนื่องจากครอบครัวเป็นสังคมแรกเป็นสถาบันที่หล่อหลอมพฤติกรรมต่างๆที่เล็กที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ใหญ่ที่สุด
ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2558 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 67.2 ล้านคน มี 21.3 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยมีสมาชิกครัวเรือนละ 3.1 คน ซึ่งแนวโน้มของครัวเรือนไทยขณะนี้อยู่ในลักษณะครอบครัวเดี่ยว มีสมาชิกน้อยลงคือมีพ่อ แม่ ลูก มีการใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร บุคคลมีความสัมพันธ์ในวงกว้างมากขึ้นทำให้มีการมองข้ามและประสบปัญหาความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลการให้บริการสายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิต ตลอดปี 2559 มีผู้ใช้บริการทั้งหมด 54,155 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 148 ครั้ง ในจำนวนนี้ปรึกษาปัญหาครอบครัว 1,701 ครั้ง มากเป็นอันดับ 5 ของผู้รับคำปรึกษาทุกเดือน โดยร้อยละ 72 เป็นผู้เริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ไม่เกิน 7 ปี ซึ่งร้อยละ 48 ยังอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 13 อยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ผู้โทรเป็นหญิงมากกว่าชาย 3 เท่าตัว
ปัญหาอันดับ 1 เกิดมาจากการปรับตัวเข้าหากันทั้ง 2 ฝ่าย ทัศนคติไม่ตรงกัน รองลงมาคือปัญหาเศรษฐกิจ เช่นค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ การกู้หนี้นอกระบบ พฤติกรรมการใช้จ่ายของคู่สมรสที่ยังเคยชินเมื่อครั้งยังไม่แต่งงาน รวมทั้งการสร้างครอบครัวโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ปัญหาคู่สมรสใช้สารเสพติด และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
ในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบแน่นอบอุ่น ที่อยากแนะนำให้ทุกครอบครัวฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัยคือการสร้างค่านิยมแฮปปี้ไทม์ แฮปปี้แฟมมิลี่ (Happy time happy family) ซึ่งเป็นการจัดสรรเวลาอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวอย่างมีคุณค่า สร้างความสุขทางใจให้แก่กันและกันมากที่สุดและคงความสม่ำเสมอทุกครั้งที่เจอกันหรืออยู่ด้วยกันเช่นขณะทานอาหาร เล่นเกม ท่องเที่ยว เป็นต้น พูดกันด้วยถ้อยคำชื่นชมกันทั้งต่อหน้าหรือพูดทางโทรศัพท์
หรือการใช้ข้อความสื่อสารกันทางไลน์ ( LINE) ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกถึงความห่วงใยที่มีต่อกัน หรือแสดงความรักด้วยการสัมผัสหรือการกอดแทนคำพูด สื่อถึงความรักความผูกพันและความสุขที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือการกระตุ้นให้เกิดความหงุดหงิด เช่น การบ่น การพูดตำหนิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เหนื่อยหรือขณะหิวเพราะอาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่บานปลายได้ ในส่วนของครอบครัวใหม่แนะนำให้ยึดหลักยึดหยุ่น “ 2 ปรับ” คือปรับทัศนคติและปรับรสนิยมของตนเอง ตั้งใจรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งและช่วยกันเลือกหรือตัดสินใจมองหาทางออกที่ทั้งคู่ยอมรับได้ หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ พยายามพูดคุยกันด้วยอารมณ์ที่สงบ หมั่นสังเกต พูดคุย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
หากยังมีปัญหาสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดนักจิตวิทยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญให้บริการการปรึกษา วันละ 40 คนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ
สำหรับผู้ที่จะสร้างครอบครัวใหม่ ควรพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญ 3 ปัจจัย ประการแรกคือความพร้อมของคนสองคน เริ่มตั้งแต่บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ ความรักใคร่ ความมีน้ำใจและไปกันได้ของทั้งสองคน ประการที่ 2. ความเข้ากันได้ของคนทั้งสองครอบครัว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายควรมีโอกาสรู้จักพูดคุยกัน และประการสุดท้ายคือเรื่องของเศรษฐกิจครอบครัว ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหาจะส่งผลให้โอกาสที่จะพาครอบครัวเป็นไปได้ค่อนข้างยากลำบาก อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในตอนท้าย