ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และพัฒนาไอคิวอีคิวหรือความฉลาดทางปัญญาและอารมณ์ให้เด็กวัยเรียนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล
ซึ่งอยู่ในความดูแลของสุขศาลาพระราชทาน โรงเรียน (รร.)ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) เป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างสมบูรณ์แบบทั้งเรื่องโภชนาการ น้ำหนัก ส่วนสูง มีพัฒนาการสมวัยมีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์เท่าเทียมกับเด็กในพื้นที่ปกติ เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยและช่วยเหลือให้เด็กและนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร
ทั้งนี้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ โดยได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 จ.เชียงใหม่เป็นแกนหลักดำเนินการ เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการให้บริการที่เหมาะสม ร่วมกับรร.ตชด. รวมทั้งเครือข่ายสุขภาพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องโครงการแล้วในสุขศาลาพระราชทานรร.ตชด. 4 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ รร.ตชด.คุณหญิงประไพ ศิวะโกเศศ และรร.ตชด.รางวัลอินทิราคานธี อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ , รร.ตชด.ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทยอนุสรณ์ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
และที่รร.ตชด.บ้านห้วยกุ๊ก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่สูง การเดินทางยากลำบาก ประชากรเป็นชนเผ่าลาหู่ ม้ง ปกากะญอ ฐานะยากจน เด็กปฐมวัยจำนวนมากยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
“ผลการใช้เครื่องมือตรวจพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 92 คน พบพัฒนาการของเด็กด้านใดด้านหนึ่งจากหลักๆ ที่มี 5 ด้าน ไม่เป็นไปตามวัยมีแนวโน้มล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันในพื้นที่ปกติ
ส่วนเด็กวัยเรียนมีไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่า 98.23 จุด ซึ่งเป็นเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของเด็กวัยเรียนทั่วประเทศ และยังพบว่าเด็กอ่านเขียนไม่ได้ร้อยละ 60 โดยทุกชุมชนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานมีร่างกายแข็งแรง ฉลาด มีพัฒนาการดี แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงดู ส่วนใหญ่จะเลี้ยงดูตามวัฒนธรรมประจำเผ่า แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ฝึกทักษะให้ความรู้ในการกระตุ้นพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้อง
พบว่าเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญานที่ดี มั่นใจว่าหากเด็กในพื้นที่เหล่านี้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการก็จะมีพัฒนาการที่สมวัยและส่งผลดีต่อไอคิวและอีคิวไปพร้อมๆกันด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะถ่ายทอดเทคนิควิธีการให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และพ่อแม่เด็กให้สามารถกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้และมีการติดตามผล หากยังไม่ดีขึ้นจะนำส่งโรงพยาบาลเพื่อใช้เครื่องมือกระตุ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งกรมฯจะเร่งขยายผลสู่สุขศาลาพระราชทานที่มี 17 แห่งทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด และขยายผลครอบคลุมรร.ตชด.ทั่วประเทศต่อไป
ทางด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่กล่าวว่า สถาบันฯได้ตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และตรวจวัดไอคิวของนักเรียนในโรงเรียนตชด.ร่วมกับสถานพยาบาลในเครือข่ายเขตสุขภาพ คือ รพ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รพ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และรพ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
ประขุมวางแผนดำเนินงานร่วมกับครูโรงเรียนตชด. เจ้าหน้าที่ประจำสุขศาลาพระราชทาน ผู้นำชุมชนเช่นผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล และอสม.ในแต่ละพื้นที่
โดยจะพัฒนาโปรแกรมใช้ฝึกทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยเป็นการเฉพาะ เพื่อเสริมพลังให้ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู ผู้ดูแลเด็ก และอสม.ใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการและสร้างวินัยเด็ก ซึ่งจะช่วยพัฒนาไอคิวและอีคิวเด็กอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกับเด็กพื้นที่ปกติ
ทั้งนี้กระบวนการดูแลสุขภาพของเด็กจะต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งเสริมให้แม่ฝากครรภ์ ได้รับการดูแลเรื่องสารอาหารที่จำเป็นต่างๆ เพื่อป้องกันเด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานคือต่ำกว่า 2,500 กรัม ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กรวมทั้งไอคิวและอีคิวด้วย