กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้ปรากฎการณ์เอลนีโญ ลากยาวถึงเดือนกรกฎาคมนี้ เตือนหน้าร้อนไทยเดือนมีนาคมถึงเมษายน อุณหภูมิสูงสุดแตะ 44 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่ทำลายสถิติร้อนสุดที่เคยสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียสในปี 2503
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน สถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรากฏการณ์เอลนีโญ ยังคงมีกำลังแรง โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่ผิดปกติ บริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรส่วนใหญ่ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงมีค่าสูงสุดประมาณ 2.5 องศาเซลเซียส
ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตร บริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแฟซิฟิก ยังคงสูงกว่าค่าปกติ แต่การคาดหมายปรากฏการณ์เอลนิโญ กำลังแรง แต่จะค่อยๆ ลดระดับความรุนแรงลงและเข้าสู่ภาวะปกติ ในช่วงกลางปีตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – กรกฎาคมนี้
แต่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิสูงสุดอาจสูงถึง 43 – 44 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยอุณหภูมิมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน และทางชายแดนไทย พม่า
ส่วนปริมาณฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ ขณะที่มีการประเมินว่าจะมีโอกาสถึงร้อยละ 50-55 ที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ในช่วงปลายนี้ตั้งแต่กันยายน-พฤศจิกายน
นายวันชัย บอกว่า จากสถิติอุณหภูมิสูงสุดของไทย ระหว่างปีพ.ศ 2494-2558 กรมอุตุนิยมรายงานว่า อุณหภูมิสูงสุดของหน้าร้อน ของเดือนมีนาคม พบว่าที่อุดรดิตถ์ 42.7 องศาเซลเซียส ในวันที่ 24 มีนาคม 2503
ส่วนเดือนเมษายน คือ 44.5 องศาเซลเซียส ที่จังหวัด อุตรดิตถ์ วันที่ 27 เมษายน 2503 และเดือนพฤษภาคม คือ 44 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ขณะที่สถิติอุณหภูมิสูงสุดของปี 2558 คือที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 41.8 องศาเซลเซียส วันที่ 21 เมษายน 2558 แต่ยังเชื่อว่าอุณหภูมิจะไม่ทุบสถิติร้อนที่สุดในรอบ 50 ปีอย่างแน่อน