ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

กรมแรงงาน แจงปมใช้แรงงานทาสชาวเมียนมา แกะกุ้ง โรงงานสมุทรสาคร ได้นำหมายศาลบุกค้นเข้าช่วยเหลือ ดำเนินคดีนายจ้างแล้ว วอนประชาชนช่วยสอดส่อง หากพบกระทำผิดค้ามนุษย์ ผ่านสายด่วน 1546…

EyWwB5WU57MYnKOuX7ERcW7q6R9wedzVYxp2A5Ih80Ql7KuxHSHE59

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 58 น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักข่าวเอพี สหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า มีแรงงานชาวเมียนมา ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสในโรงงานอาหารทะเลแปรรูป (แกะกุ้ง) ที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 58 นั้น

แท้จริงแล้วกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ประสานเข้าร่วมตรวจกับชุดเฉพาะกิจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.สมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.จ.สมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 1 (ศรชล.) เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการตรวจค้นสถานประกอบกิจการดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 58 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ ค.422/2558 ลงวันที่ 8 พ.ย. 58 ตรวจค้น บ้านเลขที่ 209/13 ถนนเดิมบาง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร ประกอบกิจการแกะกุ้ง และจากการตรวจค้น พบมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 78 คน ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 17 คน และมี 2 คน ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี โดยนายจ้างได้ว่าจ้างเข้าทำงานระหว่างวันที่ 12 เม.ย. 55 ถึง 11 พ.ค. 58 ลูกจ้างทำงานจนถึงวันที่ 9 พ.ย. 58 จึงถูกช่วยเหลือ นายจ้างได้ให้ทำงานในหน้าที่แกะกุ้ง ซึ่งจะได้รับค่าจ้างตามผลงานเฉลี่ยวันละ 200 บาท และบังคับให้ทำงานทุกวัน เวลา 03.00-18.00 น. โดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์

จากการตรวจค้นสถานประกอบกิจการดังกล่าว พบว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีตามมาตราต่างๆ รวม 13 ข้อ ดังนี้

ตามมาตรา 26, 25 และ 24 ซึ่งเกี่ยวข้องการทำงานล่วงเวลาและชั่วโมงทำงานในวันหยุด, มาตรา 44 ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง, มาตรา 45 ในกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน, มาตรา 47 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงาน ในระหว่าง เวลา 22.00-16.00 น., มาตรา 48 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด,

มาตรา 61 ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ, มาตรา 64 ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้าง ทำงานในวันหยุด, มาตรา 70 ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา, มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา, มาตรา 90 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ,

มาตรา 108 ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน, มาตรา 112 ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดทำทะเบียนลูกจ้าง และมาตรา 114 ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นพนักงานสอบสวน และดำเนินการให้แรงงานทั้ง 78 คน ยื่นคำร้อง (คร. 7) เพื่อเรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว หากพบว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานหรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว กสร.จะดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือทันที เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ และใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินคดีนายจ้างหรือสถานประกอบกิจการที่กระทำผิด

พร้อมทั้งกำกับดูแลนายจ้าง ลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพื่อให้การทำงานของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง และขอขอบคุณทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนที่ช่วยกันสอดส่องดูแล นายจ้าง ลูกจ้างที่ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

และหากพบการกระทำความผิดหรือต้องการแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1546 หรือทางเว็บไซต์ www.labour.go.th, E-mail : [email protected] และสามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ทุกพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด.

เรื่องน่าสนใจ