กรม สบส.เผยผลบังคับใช้ กฎหมายอุ้มบุญ มากว่า 2 ปีครึ่ง มีคู่สมรสได้รับอนุญาตให้ทำอุ้มบุญแล้ว 158 คู่ ทั้งยังมีผู้สนใจโทรปรึกษามาเป็นจำนวนมาก ชี้ปฏิบัติตามกฎหมายช่วยคุ้มครองทุกฝ่ายทั้งคู่สมรส หญิงที่รับตั้งครรภ์ และเด็ก รวมทั้ง ป้องปรามการกระทำผิด ขจัดเอเจนซี่/นายหน้า, การขายไข่ อสุจิ ตัวอ่อน หรือการหาแม่รับจ้างอุ้มบุญ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบังคับใช้ “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” หรือกฎหมายอุ้มบุญ ว่ากฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรยาก ได้มีบุตรตามต้องการ รวมทั้งควบคุมการศึกษาวิจัยมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
โดยจากผลการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ประมาณ 2 ปีครึ่ง พบว่ามีผู้ให้ความสนใจสอบถามไป ยังสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย การดำเนินการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการขอรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเดือนละกว่า 100 ครั้ง
และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ได้พิจารณาเรื่องขออนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนเสร็จสิ้นแล้ว 169 คู่ อนุญาต 158 คู่ และไม่อนุญาต 11 คู่ เนื่องจากคุณสมบัติของหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้บริจาคไข่ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีอายุเกิน 40 ปีบริบูรณ์ หรือมีการผ่าคลอดเกิน 1 ครั้ง
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้กรม สบส.ยังไม่พบว่ามีการลักลอบอุ้มบุญภายในประเทศ แต่อย่างใดก็ตามเพื่อป้องกันมิให้เกิดการลักลอบอุ้มบุญเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมาย และศีลธรรม กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่สมรส หญิงที่รับตั้งครรภ์ และเด็กได้รับการคุ้มครองอย่างรอบด้าน
โดยกฎหมายได้กำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯไว้อย่างชัดเจน รวมทั้ง ระบุให้คู่สมรสรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจ รักษาพยาบาลตามกระบวนการ ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ จึงมั่นใจได้ว่าทั้งหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและเด็กจะได้รับการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ผู้ที่มีสิทธิ์ขออนุญาตให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นชาวไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ห้ามคู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ หญิงโสด ชายโสด หรือคู่สมรสเพศเดียวกัน และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทยและเคยมีบุตรมาแล้ว
หากผู้ใดฝ่าฝืนลักลอบอุ้มบุญจะมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษแบ่งเป็นวาระต่างๆ อาทิ แพทย์ผู้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ผู้ใดรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท, ผู้ใดกระทำการซื้อ ขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกระทำการเป็นนายหน้าชี้ช่องทางให้มีการตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ