กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนประชาชนพิจารณาให้รอบด้านก่อนรับบริการ “คีเลชั่นบำบัด” ชี้ใช้ในการขจัดพิษจากโลหะหนักในร่างกายเท่านั้น ส่วนสรรพคุณในการเสริมความงามหรือรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังไม่เป็นที่ยอมรับเพราะยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้แน่ชัด โดยปราศจากข้อโต้เถียงทางการแพทย์ หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดอวดอ้างว่าสามารถทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หรือรักษาอาการโรคเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ถือว่าโฆษณาเกินจริง มีความผิดตามกฎหมายสถานพยาบาลเจอโทษทั้งจำและปรับ

 

กรม สบส

 

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า เทรนด์ในเรื่องของสุขภาพและความงามนั้นไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย หลายคนต่างมองหาวิธีการใหม่ๆที่จะทำให้สุขภาพ ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดูเปล่งปลั่งเป็นหนุ่ม/สาวอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีสถานพยาบาลที่ให้บริการเสริมความงามเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆปี ประกอบกับการแข่งขันทางธุรกิจด้านสุขภาพ และความงามที่เพิ่มขึ้น สถานพยาบาลจึงมักจะต้องเฟ้นหาเทคนิคหรือศาสตร์ทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ๆมาดึงดูด หรือเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการกับตน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีในด้านการพัฒนาวงการแพทย์และสถานพยาบาล แต่ประเด็นที่น่ากังวล คือ การที่สถานพยาบาลบางแห่งอาจอาศัยความไม่รู้ของประชาชนมาบิดเบือนข้อมูล ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อบริการทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น การนำ “คีเลชั่นบำบัด” (Chelation Therapy) มาให้บริการโดยอวดอ้างว่าสามารถลดริ้วรอย ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ทั้งยังใช้รักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ให้หายขาดได้

ทันตแพทย์อาคม กล่าวต่อว่า ตามวัตถุประสงค์และประโยชน์ของการทำคีเลชั่นบำบัดที่ได้รับการยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้งทางการแพทย์ คือ การขับสารพิษโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารหนู ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่สะสม หรือบำบัดภาวะผิดปกติทางสุขภาพที่สัมพันธ์กับการสะสมและตกค้างของสารโลหะหนักแบบเรื้อรังในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่อาศัยหรือประกอบอาชีพในแหล่งที่มีสารโลหะหนัก อาทิ โรงงานแบตเตอรี่ โรงเชื่อมโลหะ ฯลฯ หรือเป็นผู้ที่มีประวัติถูกยิงและมีกระสุนฝังในร่างกาย โดยการนำสารเคมี เช่น โปรตีนสังเคราะห์ EDTA ฉีดเข้ากระแสเลือดเพื่อเข้าไปจับตัวกับอนุภาคของโลหะหนัก เพื่อขับโลหะหนักออกจากร่างกาย ซึ่งอาจจะมีโทษมากกว่าประโยชน์หากใช้กับบุคคลที่ร่างกายมีโลหะหนักแต่ไม่ได้ถึงระดับขนาดที่เป็นพิษหรือป่วยด้วยโรคพิษโลหะหนัก อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้แน่ชัดโดยปราศจากข้อโต้ถียงทางการแพทย์ว่า สามารถลดริ้วรอย ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หรือสามารถรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ซึ่งปัจจุบันตามมาตรฐานทางการแพทย์สงวนการทำคีเลชั่นบำบัดไว้สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคพิษโลหะหนักเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ดังนั้น ประชาชนจะต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจรับบริการ อย่าด่วนตัดสินใจเพียงเพราะคำโฆษณา ซึ่งการที่โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกชักชวนประชาชนให้รับบริการคีเลชั่นบำบัด โดยอวดอ้างว่าสามารถช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งหรือรักษาอาการโรคเรื้อรัง โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันจะถือว่าเข้าข่ายการโฆษณาเป็นเท็จโอ้อวดเกินจริงหรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากประชาชนพบเห็นการกระทำข้างต้นสามารถแจ้งที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที

เรื่องน่าสนใจ