นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนหรือคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามประมาณ 1,600 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีการให้บริการผ่าตัด เช่น การเสริมจมูก ดึงหน้า หรือทำหน้าเรียว (V-Shape) ซึ่งจะต้องทำในห้องผ่าตัด
โดยคลินิกเหล่านี้สามารถขออนุญาตเปิดให้บริการด้านผ่าตัดได้ และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด โดยห้องผ่าตัดมี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ใช้ในกรณีการผ่าตัดขนาดเล็กที่ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ หรือยารับประทานที่ทำให้ผู้ป่วยเคลิ้มหลับ ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 12 ตารางเมตร และขนาดใหญ่ ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20 ตารางเมตร
เนื่องจากเป็นห้องใช้ผ่าตัดกรณีที่ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่จำนวนมาก มีการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำเพื่อให้หลับ การดมยาสลบหรือผ่าตัดหลายอวัยวะพร้อมกันในคราวเดียวกัน โดยจะต้องมีวิสัญญีแพทย์ หรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการให้ยาระงับความรู้สึก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า ผู้ดำเนินการคลินิกจะต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานของห้องผ่าตัดทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ใน 3 ประเด็นหลักๆดังนี้ 1.สถานที่ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มีอ่างฟอกทำความสะอาดมือชนิดไม่ใช้มือเปิด-ปิด เพื่อให้แพทย์หรือบุคลากรได้ล้างทำความสะอาดมือก่อนการผ่าตัด มีบริเวณล้างเครื่องมือ และบริเวณทำความสะอาดเครื่องมือให้ปราศจากเชื้อโรค 100 เปอร์เซ็นต์
2.ผู้ให้บริการ ต้องเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้องตามกฎหมาย และ 3.มีอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ครบถ้วนเพียงพอต่อการให้บริการ และอุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิตในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในสถานพยาบาลต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยอย่างแท้จริง
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปว่า ประการสำคัญ กำหนดให้คลินิกที่มีห้องผ่าตัดขนาดใหญ่ จะต้องจัดให้มีห้องพักฟื้นเพื่อดูอาการผู้ป่วยหลังผ่าตัดให้มีความปลอดภัยในระยะเวลาทำการของคลินิก กำหนดให้มีเตียงพักฟื้น 1.5 เตียง ต่อ 1 ห้องผ่าตัด หากมีห้องผ่าตัด 1 ห้อง จะต้องมีเตียงพักฟื้น 2 เตียง แต่หากมีห้องผ่าตัด 2 ห้อง จะต้องมีเตียงพักฟื้น 3 เตียง แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลขณะนี้ พบว่ามีคลินิกบางแห่งนำตัวผู้ป่วยหลังผ่าตัดไปพักฟื้นนอกคลินิก เช่น แมนชั่น หรือคอนโดมิเนียมซึ่งคลินิกได้จัดเตรียมไว้ ถือว่าการกระทำผิดกฎหมาย และเสี่ยงอันตรายต่อผู้ป่วย เข้าข่ายการเปิดสถานพยาบาลเถื่อน มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ปรับปรุงและแก้ไข ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า คลินิกที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไปแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการของคลินิกไม่ว่าจะเพิ่มหรือลด
รวมทั้งการดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ จะต้องยื่นขออนุญาตที่กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่นั้นๆ ก่อนดำเนินการทุกครั้ง และห้ามกระทำการก่อนได้รับอนุญาต มิเช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท