ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินงานของกรม สบส.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป ได้กำหนดทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 รองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง  สังคมผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสุขภาพ

ซึ่งระบบสุขภาพนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม โดยกรม สบส.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรมฯ พ.ศ.2560-2564 สู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ส่งเสริมพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สถานพยาบาล และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจประเทศ  2. ส่งเสริมพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคีเครือข่ายในการจัดการสุขภาพ ให้สังคมมีภูมิคุ้มกันสุขภาพ 3. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการบริการสุขภาพสู่มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างประเทศและสร้างรายได้จากธุรกิจบริการสุขภาพเข้าประเทศ  

และ4. พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรม สบส.เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขที่มีบทบาทช่วยสร้างเศรษฐกิจ รายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก  ตั้งเป้าหมายระยะ 20 ปี ประชาชน/ชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพได้  สามารถลดรายจ่ายจากการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย  ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ 1 ใน 3 ของเอเชีย เพิ่มรายได้เข้าประเทศ และอภิบาลระบบสุขภาพสู่ความยั่งยืน

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า สำหรับด้านการใช้กฎหมายที่กรมสบส.มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ขณะนี้เราเริ่มต้นดูแลด้านสปา นวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพและนวดเพื่อเสริมความงาม  แต่ในอนาคตยังสามารถขยายผลใช้ส่งเสริมพัฒนามาตรฐานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอื่นๆ สร้างเศรษฐกิจรายได้เพิ่มเติมได้อีก

เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ลองสเตย์ เนิร์สเซอรี่ ฟิตเนสเซนเตอร์ ศูนย์ความงาม รวมถึงร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น  และขณะเดียวกันกรม สบส.ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารยุทธศาสตร์เมดิคัลฮับ โดยมีกองสุขภาพระหว่างประเทศดำเนินการ ทำหน้าที่ส่งเสริมผู้ให้บริการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มจุดแข็งการแข่งขันระดับนานาชาติ   และสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดผู้ใช้บริการจากต่างประเทศมากขึ้น

ส่วนในด้านสังคม ต้องยอมรับว่าปัญหาสาธารณสุขคนไทยขณะนี้ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกิดมาจากพฤติกรรมสุขภาพ เช่นมะเร็ง เบาหวาน อุบัติเหตุจราจร  โรคหลอดเลือดสมอง  สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการสร้างองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพให้ประชาชน ชุมชนและสังคม 

เนื่องจากไม่มีใครที่สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีที่สุดเท่าตัวเองดู  และต้องเร่งสร้างเครือข่ายสุขภาพ เพื่อให้เกิดพลังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยดำเนินงาน

โดยได้มอบนโบบายให้บุคลากรในสังกัดทุกคน  ยึดหลักประเมินผลการทำงานในรอบ 1 ปีงบประมาณ เพื่อตอบโจทย์ว่าประชาชนได้รับประโยชน์อะไร ทั้งในแง่ของคุณภาพชีวิต และสุขภาพดีขึ้นและพัฒนาวิธีการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพขจัดจุดอ่อนให้หมดไป  นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ