ที่มา: dodeden

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ แจงข้อปฏิบัติรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 72 ชั่วโมงแรกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4  พ.ศ.2559 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ต้องปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน โรงพยาบาลทุกแห่งต้องรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) อย่างเต็มความสามารถ  และห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมงแรกเด็ดขาด หากฝ่าฝืนในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามนโยบายรัฐบาล  เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ ( Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP ) กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง  เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรกนั้น

ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4  พ.ศ.2559  และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ขณะนี้กฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย การกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินและการระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมการช่วยเหลือเยียวยาและจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น

และ3.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

นายแพทย์วิศิษฎ์ฯ กล่าวต่อว่า  เพื่อผลในทางปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ กรมสบส. ได้ทำหนังสือแจ้งเวียน ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป  หน่วยงานภาครัฐ /รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ

ซึ่งขณะนี้ขึ้นทะเบียนกับกรมสบส.จำนวน 347 แห่ง  เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ  ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ จะได้รับการดูแลช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที  และเท่าเทียมกัน มีมาตรฐานเดียวกัน  โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีทั้งการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติจากอุบัติเหตุและจากโรคประจำตัวกำเริบ มีโอกาสรอดชีวิตและได้รับการดูแลจนปลอดภัยใน 72 ชั่วโมงแรก

ด้าน นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสบส.กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศทั้ง 3 ฉบับ กำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินฯ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พ้นขีดอันตราย ภายใน 72 ชั่วโมงแรก

หากมีความจำเป็นหรือหากผู้ป่วย/ญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้และต้องจัดให้มีการส่งต่อตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของโรงพยาบาลนั้นๆ ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยเด็ดขาด

โดยให้โรงพยาบาล ส่งหลักฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ฯที่กำหนดซึ่งมีทั้งหมด 12 หมวด 2,970 รายการไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งไปยังกองทุนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิของผู้ป่วยภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการจ่ายค่ารักษา ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภายใน 15 วัน

กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้วให้โรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิ์ของผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่ระบบปกติของการรักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพต่างๆ

แต่หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย จะมีความผิดตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559  มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องน่าสนใจ