ที่มา: dodeden

บ่ายวันนี้ (12 เมษายน 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี กรม สบส. พร้อมด้วยทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) และพนักงานเจ้าหน้าที่จาก สพรศ. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของโรงพยาบาลเอกชนในช่วง  7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์

นายแพทย์ธงชัย ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ กรม สบส.ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) เข้ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น เขตบางซื่อ และโรงพยาบาลวิภาวดี เขตจตุจักร กทม. เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนที่อยู่ใกล้อย่างทันท่วงที ในมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆใน 72 ชั่วโมงแรก

ลดการสูญเสียทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) ซึ่งปีนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2560 โดยคาดว่าในช่วง 7 วันนี้จะมีการสัญจรที่มากกว่าปกติ ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งไม่ได้เตรียมความพร้อมร่างกายหรือยาประจำตัวขณะท่องเที่ยว หรือเดินทางกลับภูมิลำเนา

ทั้งนี้ กรม สบส.ได้ตรวจสอบความพร้อมของโรงพยาบาลเอกชน ในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ สถานพยาบาลมีมาตรฐานครบทั้ง 5 ด้าน ตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดหรือไม่ ประกอบด้วย 1.สถานที่ ต้องมีความสะอาด เหมาะสมต่อการบริการ 2.แพทย์ผู้ให้บริการ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้อง 3.การบริการ ต้องได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 4.เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารละยา (อย.) 5.ความปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน และประเด็นที่ 2 คือ โรงพยาบาลมีระบบการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ผ่านระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งมีความพร้อมในการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยช่วง 7 วันอันตราย ครบถ้วนทั้ง 2 ประเด็น

ด้าน ทันตแพทย์อาคม กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย และไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย UCEP

หากโรงพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้หากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของ สพฉ. ผ่านทางสายด่วน  02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องน่าสนใจ