จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อโซเชียลถึงกรณีการทำคลอดที่ช้า แพทย์ไม่ทำการผ่าคลอดให้ โดยแจ้งให้ว่าคนไข้เด็กมีอาการสมบูรณ์แข็งแรงดีไม่จำเป็นต้องผ่าคลอดและให้นอนนิ่งๆ จนเป็นเหตุทำให้ทารกที่คลอดออกมามีอาการสำลักน้ำคร่ำ เสียชีวิตในที่สุด
วันนี้ (24 มิถุนายน 2560) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส. ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่าให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีการควบคุมและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลของตนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดหรือไม่ 2.ผู้ประกอบวิชาชีพ มีการดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ และ 3.สถานพยาบาลมีการควบคุม คุณภาพ มาตรฐาน ครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน ตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งประกอบด้วย 1)สถานที่ สะอาด เหมาะสมแก่การให้บริการ 2)แพทย์ผู้ให้บริการมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้อง 3)การบริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 4)เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ มีคุณภาพได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ5)ความปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน หรือไม่เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.)กล่าวว่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นธรรมขอให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลทุกแห่งควบคุม คุณภาพ มาตรฐาน อย่างใกล้ชิด
โดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลควบคุมและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ หากผู้ดำเนินการไม่ควบคุมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากสถานพยาบาลใดมีการกระทำผิดมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะมีคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเกินระยะเวลาแล้วยังไม่มีการปรับปรุงจะดำเนินการตามกฎหมายทันทีส่วนผู้ประกอบวิชาชีพจะส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อคำถาม หรือเบาะแสการกระทำผิดของสถานพยาบาลสามารถแจ้งได้ที่ กลุ่มโรงพยาบาล สพรศ. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18406 และกลุ่มคลินิก สพรศ. ต่อ 18407