ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ ( 16 สิงหาคม 2560  ) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส. ) มอบหมายให้ นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ติดตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ซึ่ง ระบุว่าในช่วงวันที่ 15-21 สิงหาคม ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงอาจจะมีอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม

กรม สบส.มีความกังวล ถึงผลกระทบจากเหตุอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งอาจเกิดกับสถานพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงขอให้ทุกแห่งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งการทำคันกั้นน้ำ หรือก่อกำแพงอิฐบล็อคป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมสถานพยาบาล และเตรียมพร้อมขนย้าย ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์บนชั้น 2 ของอาคารสถานพยาบาล แต่หากเป็นอาคารชั้นเดียวให้ขนย้ายขึ้นที่สูง

ประการสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม คือการป้องกันน้ำที่เคลื่อนมาตามท่อระบายน้ำ หรือผุดขึ้นมาจากรูระบายน้ำในห้องน้ำของสถานพยาบาล เพราะคิดว่าน้ำจะมาจากภายนอกเสมอ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งถูกน้ำท่วม แม้จะทำการป้องกันน้ำที่มาจากภายนอกอย่างเต็มที่ก็ตาม

ซึ่งการป้องกันน้ำที่ผุดขึ้นจากฝาท่อระบายน้ำ สามารถทำได้โดยการก่อบ่ออิฐรอบๆ ฝาระบายน้ำ หรือ ก่อกำแพงถุงทรายเป็นวงกลมรอบๆ ให้มีความสูงอย่างน้อย 1.5 เมตร หากมีน้ำที่ผุดเข้ามาน้ำก็จะถูกขังอยู่ภายในบ่ออิฐ หรือคันถุงทราย จนเมื่อระดับน้ำด้านนอกเท่ากับด้านในแล้ว น้ำจากด้านนอกจะไม่ดันเข้ามาด้านใน

แต่หากน้ำผุดจากรูระบายน้ำในห้องน้ำ ก็สามารถป้องกันได้โดยนำท่อน้ำความยาวประมาณ 1.5 เมตร สวมเข้ากับรูระบายน้ำและอุดบริเวณรอยต่อให้มิดชิด น้ำจากด้านนอกจะดันเข้ามาอยู่ภายในท่อจนระดับน้ำเท่ากัน น้ำจากภายนอกก็จะไม่ดันเข้ามาอีกต่อไป

“ในช่วงสถานการณ์อุทกภัยประชาชนต่างได้รับความบอบช้ำทั้งร่างกาย และจิตใจ จึงต้องการที่พึ่งพิงซึ่งสามารถฝากชีวิตของตนหรือครอบครัวไว้ในการดูแล สถานพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่ให้บริการด้านสุขภาพ มุ่งเน้นการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย หรือโรคต่างๆ

ทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไปเสียมิได้หากแห่งใดประสบเหตุอุทกภัยจนไม่สามารถให้บริการได้ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตอย่างมาก” นายแพทย์ประภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งใดประสบเหตุอุทกภัย สามารถประสานขอความช่วยเหลือ เพื่อเข้าประเมินความเสียหาย และฟื้นฟูอาคาร สถานที่ เครื่องมือแพทย์ จากทีมวิศวกรฉุกเฉินหรือทีมเอ็มเสิร์ท ( Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT ) ซึ่งมีอยู่ทั้งในส่วนกลางที่กรม สบส. และในส่วนภูมิภาคที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 1-12

เรื่องน่าสนใจ