ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงเปิดเทอมหรือช่วงเข้าหน้าฝน จะพบการระบาดบ่อยครั้งของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด ส่วนมากจะเกิดกับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี แพร่กระจายติดต่อในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และศูนย์เด็กเล็ก พบได้ตลอดปีแต่พบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีอากาศเย็นและชื้น

ข้อมูลเฝ้าระวังโรค จาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2560 ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 17,575 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 26.86 ต่อแสนประชากร อายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ 1 ปี (26.90%) 2 ปี (23.40%) และ 3 ปี (17.35%) ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าเด็กอายุ 1-3 ปี เสี่ยงต่อการเป็นโรคมือ เท้า ปาก ในอัตราที่สูง ดังนั้นผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดในช่วงวัยดังกล่าวตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้องตามสุขบัญญัติแห่งชาติ   ให้กับเด็ก ด้วยการเริ่มจากตนเอง และสอนให้เด็กปฏิบัติตามเป็นประจำทุกวันจนติดเป็นนิสัย

นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า เชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะปนอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผล หรือจากอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายทางปาก โดยติดมากับมือหรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน

เช่น ช้อน แก้วน้ำ ของเล่น หรือติดจากการไอจามรดกัน อาการของโรคจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีจุดหรือผื่นแดงในปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม มีอาการเจ็บ ต่อมาจะพองใสและแตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ

และอาจพบตุ่มหรือผื่นแดงที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้นด้วย ไม่มีอาการคัน เด็กที่ป่วย ผู้ปกครองควรให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านจนอาการทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน หากมีไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก หรือมีอาการแย่ลงควรนำพบแพทย์ทันที

การปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติสามารถยับยั้งโรคมือ เท้า ปากได้ เน้นย้ำผู้ปกครอง โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก ให้ปฏิบัติและสอนเด็กให้ติดจนเป็นนิสัย ด้วยวิธีการง่ายๆ

ดังนี้ 1) ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ ก่อน-หลังรับประทานอาหาร หลังจับสิ่งสกปรก และหลังกลับจากโรงเรียน 2) ดูแลบริเวณที่อยู่ ที่เล่น ของเล่น ของใช้ของเด็กๆ  ให้สะอาดอยู่เสมอ

3) ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 4) ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน-ส้อม ขวดนม ผ้าเช็ดหน้า และหากมีการระบาดของโรค มือ เท้า ปาก ให้หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปใน ที่ชุมชน อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสื่อสุขศึกษาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และ สาระความรู้ด้านสุขภาพ ได้ที่คลังความรู้สุขภาพ healthydee และ เฟสบุ๊คของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

เรื่องน่าสนใจ