วันนี้ (27 กันยายน 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้หลายจังหวัดประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำ
กรม สบส.มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดยิ่งท่วมขังนานก็จะพบโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้นไปด้วย เนื่องจากต้องแช่น้ำ เดินลุยน้ำ เป็นระยะเวลานานทำให้ผิวหนังเปื่อย มีแผล โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้า เสี่ยงติดเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำท่วมขังได้ง่าย
ดังนั้น หากมีความเป็นต้องแช่น้ำ หรือเดินลุยน้ำ หลังจากขึ้นจากน้ำให้รีบชำระล้างด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่ เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ซึ่งจะมีความอับชื้นมากกว่าที่อื่น อาจใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณเท้าและซอกนิ้วเท้าเพื่อให้เท้าแห้งสนิททุกครั้ง
หากมีบาดแผลบริเวณเท้า ให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ รวมทั้ง หลีกเลี่ยง การใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้
อย่างไรก็ตาม สภาพของน้ำท่วมภาคกลางขณะนี้ เป็นลักษณะของน้ำเอ่อขังค่อนข้างนิ่งทำให้น้ำเน่าเสียง่าย และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยงดการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล หรือห้ามขับถ่ายลงในน้ำหากห้องน้ำใช้การไม่ได้ ขอให้ให้ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ขับถ่ายใส่ถุงพลาสติก/ถุงดำ และมัดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อลดความสกปรกของน้ำท่วมขังให้ได้มากที่สุด
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับการป้องกันโรคน้ำกัดเท้า หรือการเกิดบาดแผลที่เท้าในเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรเลี่ยงการลุยน้ำ
เนื่องจากมีโอกาสเกิดแผล และมักไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลที่เท้า ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รักษาหายยาก ดังนั้นหากเป็นไปได้ขอให้ประชาชนสวมรองเท้าบูทยางทุกครั้งที่ลุยน้ำ ถ้าระดับน้ำท่วมสูงเกินกว่าขอบรองเท้า ให้สวมถุงดำหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้าและรัดให้แน่นกระชับ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้า และสวมรองเท้าทับเพื่อป้องกันการถูกของมีคมบาดหรือทิ่มแทง
หากน้ำเข้ารองเท้าให้หมั่นเทน้ำออกเป็นระยะๆ และได้ขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคน้ำกัดเท้า รวมทั้งโรคอื่นๆที่มากับน้ำ เช่น ตาแดง อุจจาระร่วง เป็นต้น