กระดูกขากรรไกร และใบหน้า กับการศัลยกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่หลากหลาย เพราะปัญหาของหนุ่มๆ สาวๆ ที่ฟันยื่น ฟันเหยิน จนการสบฟันมีปัญหา หรือผู้ที่ประสบภาวะยิ้มเห็นเหงือก

 

กระดูกขากรรไกร
ภาพจาก usmagazine.com

 

บางครั้ง ทางแก้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การจัดฟันเท่านั้น เพราะคนไข้บางราย ปัญหาเกิดจากโครงสร้างของขากรรไกรที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งขากรรไกรบน หรือขากรรไกรล่าง

 

เช่น มีกระดูกขากรรไกรบนเล็ก กระดูกขากรรไกรล่างใหญ่ หรือยื่น (ทําให้ฟันล่างยื่นออก) หรือมีกระดูกขากรรไกรล่างเล็ก กระดูกขากรรไกรบนใหญ่ (ทําให้ปากบนยื่นออก หรือยิ้มเห็นเหงือก) ลักษณะที่ว่านี้ นอกจากการจัดฟันแล้ว อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเลื่อนปรับขากรรไกรให้อยู่ในตําแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การสบฟันเป็นปกติ และผลที่ตามมาคือ ใบหน้าที่ได้สัดส่วนมากขึ้น

การศัลยกรรมกระดูกขากรรไกรและใบหน้า (Orthognathic Surgery)
คือการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขโครงสร้างของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า เช่น ขากรรไกรบนเล็ก ขากรรไกรล่างใหญ่ หรือยื่น ขากรรไกรล่างเล็กจนดูไม่มีคาง ขากรรไกรล่างยื่นออกมา ขากรรไกรบนยุบเข้าไป ทําให้ใบหน้าเหมือนคนแก่ การยิ้มแล้วเห็นเหงือกโผล่ออกมา ปากอูม บางคนมีปัญหาหน้าเบี้ยว คางเบี้ยว หรือไม่มีคาง (ในรายที่ขากรรไกรล่างหุบเข้าไป) ฯลฯ ซึ่งเป็นได้หลายรูปแบบโดยสังเกตได้จากฟัน จะไม่สามารถสบกันได้ หรือสบกันได้แต่ไม่ดี ในการผ่าตัดจะยึดเอาฟันเป็นหลัก โดยก่อนผ่าตัด จะต้องเรียงฟันให้เป็นระเบียบก่อน (ด้วยการจัดฟัน) เพื่อให้ฟันอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสมตามแนวของกระดูก ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง หลังจากเรียงฟันแล้ว ฟันจะยังสบกันไม่ได้ จึงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัด

 

กระดูกขากรรไกร
ภาพจาก koreaboo.com

 

แนวทางในการรักษา
การผ่าตัด อาจจะผ่าตัดขากรรไกรบนอย่างเดียว ขากรรไกรล่างอย่างเดียว หรือผ่าตัดทั้งขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง การวางแผนการรักษาจึงขึ้นอยู่กับปัญหาของคนไข้แต่ละราย อย่างการผ่าตัดขากรรไกรบน สามารถทําได้หลายลักษณะ อาจจะผ่าตัดเป็นบางส่วน หรือผ่าตัดทั้งหมด ถ้าเป็นการทําทั้งหมด ทันตแพทย์จะเลาะขากรรไกรออกทั้งหมด แล้วจับวางให้ไปอยู่ในตําแหน่งใหม่ที่ถูกต้อง แล้วจึงยึดด้วยสกรู หรือการผ่าตัดขากรรไกรล่างในกรณีที่เล็ก ทันตแพทย์ก็จะผ่าตัดเพื่อยึดขากรรไกรมาด้านหน้า เพื่อให้ฟันสบกันได้

นอกจากนี้ ในคนไข้บางรายที่ไม่มีคาง ทันตแพทย์จะปรับยึดคางออก เพื่อปรับรูปร่างใบหน้าให้ได้สัดส่วนมากขึ้น และคนไข้ทุกรายที่เข้ารับการผ่าตัด ต้องมีการจัดฟันก่อน เพราะจะไม่สามารถรู้ได้ว่า จะเลื่อนกระดูกขากรรไกรไปอยู่ตําแหน่งใด หลังจากจัดฟันได้ประมาณ 70% จึงเข้ารับการผ่าตัด

 

กระดูกขากรรไกร
ภาพจาก Plastic Surgery Korea

 

หลังผ่าตัด
ฟันจะพอสบกันได้ รอจนแผลหายแล้วจัดฟันต่อเพื่อให้ฟันสบกันได้ 100% การรักษาจะยึดเอาการสบฟันเป็นหลัก คือผ่าตัดเสร็จแล้ว ฟันต้องสบกัน ได้ ใบหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามการสบของฟัน การรักษาจะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างทันตแพทย์ด้านการจัดฟัน กับแพทย์ที่จะทําการผ่าตัด หากไม่มีความผิดปกติของขากรรไกร การรักษาจะใช้การจัดฟันอย่างเดียว แต่ในรายที่โครงสร้างของขากรรไกรผิดปกติ การจัดฟันอย่างเดียวจะทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

ขั้นตอนการรักษา

  • ทันตแพทย์จัดฟันกับทันตแพทย์ผ่าตัดศัลยกรรมช่องปาก ร่วมกันวางแผนการรักษา เช่น ต้องถอนฟันซี่ไหนบ้าง จะจัดฟันอย่างไรในการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด การผ่าตัดจะทําในลักษณะใด ฯลฯ เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดก่อนการรักษา
  • ดำเนินการจัดฟัน เพื่อให้ฟันจัดเรียงกันดีก่อนประมาณ 70%
  • สร้างหุ่นจําลอง RP (Rapid Phototyping) เสมือนคนไข้จริง เพื่อให้ทันตแพทย์วางแผนการผ่าตัด และทดลองก่อนผ่าตัดจริงว่า จะผ่าลักษณะใด
  • หลังจากที่ปรับตําแหน่งขากรรไกรแล้วจะออกมาแบบไหน ในเคสที่ยาก RP จะช่วยให้ทันตแพทย์มองเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
    เมื่อคนไข้มีความพร้อมในการผ่าตัด จะซักประวัติคนไข้ ตรวจร่างกาย เพื่อเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
  • ทันตแพทย์ที่จะทําการผ่าตัด จะวางแผนร่วมกับวิสัญญีแพทย์ ในการวางยาสลบ และวางยาสลคนไข้
  • ทําการผ่าตัด
  • รอให้แผลหาย (ประมาณ 6 สัปดาห์) เพื่อให้กระดูกเชื่อมกันดี
  • ดําเนินการจัดฟันต่อ

••••••••••••••••••••••••••••••

ผลลัพธ์ที่ได้ หลังผ่าตัดจะเห็นทันทีถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างใบหน้าที่ได้สัดส่วนมากขึ้น ประมาณ 50% เพราะช่วงนั้นยังมีการบวมอยู่ หลัง จากที่ยุบบวมผลลัพธ์จะเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่รู้สึกได้เลยคือ ฟันจะสบกันดีขึ้น และจะเห็นผลสมบูรณ์ 100% เมื่อการจัดฟันเสร็จสิ้น

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ