กระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ประเพณีอันเลื่องชื่อของจังหวัดตาก เป็นงานประเพณีที่นําหลักคําสอนของพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน และงานศิลปวัฒนธรรมมาหล่อหลอมรวมกัน จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน หลายชั่วอายุคน
จะแตกต่างจากงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดอื่น ก็ตรงที่วัสดุที่นํามาใช้ประดิษฐ์กระทง ทํามาจากกะลามะพร้าว เนื่องจากชาวเมืองตาก ได้มีการนําเอามะพร้าวมาแปรรูปทําเป็นเมี่ยง ซึ่งเป็นอาหารว่างที่ชาวเมืองตากทานเป็นประจําหลังอาหาร ซึ่งจะขูดเอาเฉพาะเนื้อมะพร้าว มาทําเมี่ยง ส่วนกะลามะพร้าว จะถูกทิ้งไว้เป็นจํานวนมาก
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวบ้านจึงได้นํากะลาด้านที่ไม่มีรู มาทําเป็นกระทง โดยเอากะลามาขัดถูจนสะอาด ตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟันเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อเทียนขี้ผึ้ง ซึ่งนํามาจากเทียนจําพรรษาเหลือใช้ที่พระสงฆ์ใช้จุดตลอดสามเดือนในช่วงเข้าพรรษา หลังจากออกพรรษา ชาวบ้านจะนําเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้น มาหล่อใส่ในกะลา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิริมงคลแก่ผู้นําไปลอย
……………………………………………..
กระทงกะลานับพัน จะถูกปล่อยลอยลงสู่แม่น้ำปิง ที่มีสันทรายใต้น้ำ ทําให้เกิดเป็นร่องน้ำขึ้น เมื่อนํากระทงกะลาลงลอย กระทงจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าว หากลอยติดต่อกันนับพัน หรือจํานวนมากๆ จะทําให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่องจนสุดตา แสงไฟในกะลา จะส่องแสงระยิบระยับ เป็นทิวแถวตามแนวคุ้งน้ำ จึงเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวงนั่นเอง
เนื้อหาโดย Dodeden.com