ที่มา: matichon

วันนี้ (7 ม.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณีการกระทำผิดซ้ำซากของผู้ต้องหาคดีฆ่าชิงไอโฟน โดยระบุว่า ทำไมผู้กระผิดที่ฆ่าปาดคอบัณฑิตชิงทรัพย์จึงทำผิดซ้ำซาก กรณีที่นายกิตติกร หรือต้อม วิกาหะ อายุ 26 ปี แทงหนุ่มบัณฑิตจนถึงแก่ความตายเหตุต้องการปล้นไอโฟนนั้น เข้าออกเรือนจำหลายครั้ง แต่ทำไมจึงกระผิดซ้ำซาก หรือกระบวนการบำบัดไม่ได้ผล

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในสารบบหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมพบมีการกระทำความผิด 5 ครั้ง โดยผู้ต้องหาเคยถูกดำเนินคดีขณะเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ได้ส่งตัวไปดำเนินการที่สถานพินิจฯนนทบุรี 2 คดี ส่วนที่เหลือเป็นการกระทำความผิดหลังอายุเกิน 18 ปี ดังนี้

1 เลขคดี 348/2549 ถูกจับกุมฐานความผิด “ละเมิดลิขสิทธิ์” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2549 คดีดำ 257/2549 คดีแดง 283/2549 ศาลเยาวชนฯ จังหวัดนนทบุรี พิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 โดยคุมประพฤติ 2 ปีรายงานตัวทุก 2 เดือน ต่อมาผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขศาลติดสินใหม่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 คุมประพฤติ 3 ปี

2 เลขคดี 793/2549 ถูกจับกุมฐานความผิด “สูดดมสารระเหย” เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2549 คดีดำ 91/2550 คดีแดง 87/2550 พิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 ให้คุมประพฤติ 1 ปีรายงานตัวทุก 2 เดือน

3 สถานีตำรวจอำเภอเมืองนนทบุรีจับกุมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ขณะที่อายุเกินกว่า 18 ปีในความผิด “ฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และความผิดต่อร่างกาย” ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือนปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี จำเลยต้องขังมาพอแก่ค่าปรับแล้ว จึงได้ปล่อยตัวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 หรือในวันเดียวกันกับวันที่พิพากษาคดี

ทั้ง 3 คดีผู้กระทำความผิดไม่ไปรายงานตัวตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด พนักงานคุมประพฤติได้รายงานการผิดเงื่อนไขดังกล่าวให้ศาลทราบ และศาลได้ออกหมายจับแล้วทั้ง 3 คดี

4 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราปี พ.ศ. 2557 ศาลแขวงสมุทรปราการมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจก่อนคำพิพากษาในโดยพนักงานคุมประพฤติเห็นว่าวิธีการคุมประพฤติไม่เหมาะสมต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก 1 เดือนในความผิดดังกล่าวและพ้นโทษไปแล้ว

5 สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จับกุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ในความผิดฐาน “ผลิตและครอบครองพืชกระท่อม(ผลิตน้ำกระท่อม) ศาลจังหวัดนนทบุรี พิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ให้จำคุก 8 เดือนปรับ 12,500 บาทให้จำคุกรอไว้ 2 ปี แต่จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษปรับแล้ว จึงได้ปล่อยตัวไป 14 ธันวาคม 2559 หรือในวันเดียวกันกับวันที่พิพากษา

จากข้อมูล จะพบว่า 3 คดีแรกได้รับโอกาสให้คุมประพฤติ กระทำผิดขณะเป็นเด็กและเยาวชน 2 คดี แต่ทั้งหมดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งพนักงานคุมประพฤติได้รายงานการผิดเงื่อนไขให้ศาลทราบ และศาลได้ออกหมายจับทั้ง 3 คดี ดังกล่าวข้างต้น

ส่วนที่เหลืออีก 3 คดี มีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่ได้รับโทษให้จำคุก 1 เดือนในคดีผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราปี พ.ศ. 2557 ส่วนอีก 2 คดี ส่วนที่เหลือได้รับการรอลงอาญา ส่วนโทษปรับจำเลยต้องขังมาพอแก่โทษปรับแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัวไปในวันที่ศาลมีคำพิพากษา

จึงเห็นได้ว่าผู้ต้องหารายนี้แทบไม่มีเวลาเหลือในโปรแกรมบำบัดแก้ไขฟื้นฟูในชั้นหลังคำพิพากษาของศาลเลย เนื่องจากเป็นความผิดที่มีอัตราโทษต่ำ ขณะที่การถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีก็เพียงสั้นๆ เท่านั้น

แต่อีกมิติหนึ่ง ที่สังคมไม่เคยมองเลย คือมายาคติต่อผู้กระทำผิดของสังคมที่ยอมรับเขากลับคืนสู่สังคมหรือไม่ ? ลูกหลานเราติดคุกไปรับได้ถึงประตูคุก นำไปเลี้ยงรับขวัญก่อนเข้าไปนอนมุ้งเดียวกับเราได้ แต่ลูกหลานคนอื่นที่ออกจากคุกสังคมไม่รับ เป็นบุคคลน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง สร้างวาทกรรม Hate Speech หรือใช้วาจาสร้างความเกลียดชังใส่พวกเขา

อีกทั้งประเทศไทยไปกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามในการเข้าทำงานว่าต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษา ไม่มีการลบประวัติอาชญากรจนถึงวันตาย กระดูกเป็นขี้เถ้าก็เป็นขี้เถ้าของคนขี้คุกขี้ตะราง เขาถึงหางานทำยากมากถึงยากที่สุด ต้องไปเป็นผู้ประกอบการเอง เงินทุนก็ไม่มี ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้

จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนเหลือคนสุดท้ายที่เขาสามารถกลับไปคบได้ก็คือ คนที่เคยต้องโทษ ขี้คุกขี้ตะรางเหมือนกัน สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถก้าวข้ามมันไปได้ ต้องเดินกลับไปซ้ำรอยเดิม

ซึ่งที่กระทรวงยุติธรรมทำได้ดีที่สุดคือการรับรองคำมั่นว่าภายใน 2 ปี ผู้ที่พ้นโทษจากเราไปแล้วจะต้องไม่กระทำความผิดซ้ำเกินกว่าร้อยละ 13 เท่านั้น เพราะคนพ้นโทษถูกปล่อยตามคำพิพากษาแล้ว เขาเป็นบุคคลธรรมดาไม่ว่าภาครัฐหรือใครๆก็ตามไม่มีสิทธิไปเฝ้าระวังติดตาม

เพราะจะไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งการติดตามแบบไม่มียุทธวิธี ติดตามแบบจับผิด รังแต่จะเป็นการซ้ำเติม ฝังเขาทั้งเป็นลงไปอีก เพราะขณะที่เขาต้องการหลุดพ้นจากภาพคนขี้คุกขี้ตะราง แต่หากแสงไปจากการติดตามทุกดวงยังคงส่องไปที่เขานั้น มันก็ไม่ต่างไปจากการตอกย้ำหรือประกาศอย่างเป็นการถาวรที่จะไม่ให้เขากลับเป็นคนดีได้ ทำให้เขาหางานยากไปอีกเป็นร้อยเท่าพันทวี ในมิตินี้สังคมก็มิใคร่สนใจ จึงต้องระมัดระวังให้มากเช่นกัน

“เราชอบที่จะศึกษาและจดจำคนพ้นโทษแล้วไปกระทำผิดซ้ำ แต่คนกระทำผิดที่ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีกเลยที่มีมากกว่า เราไม่เคยไปศึกษาและเผยแพร่ว่าทำไม เขาจึงไม่กระทำผิดซ้ำอีก” ดังนั้น คนกระทำผิดซ้ำแม้จะมีจำนวนน้อย แต่เมื่อถูกผลิตซ้ำทางความคิด จึงทำให้สังคมเชื่อไปแล้วว่า คนพ้นโทษส่วนใหญ่ต้องกระทำผิดซ้ำ

ซึ่งไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริง คนทำงานด้านบำบัดแก้ไขผู้ต้องขังก็ต้องนั่งก้มหน้าให้น้ำตามันหยดลงพื้นดินอย่าให้ใครเห็นว่าเราร้องไห้ หรือไม่ก็น้ำตาตกใน ก้มหน้าก้มตายอมมันไปรับว่าเราเป็นคนที่ทำหน้าที่ไม่ได้เรื่องใช้ไม่ได้

ทั้งที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องตรากตรำ แทบไม่มีวันหยุด แม้แต่พยาบาล เจ้าหน้าที่การเงินก็ต้องอยู่เวรป้อมเฝ้าผู้ต้องขังที่มีมากเกินกว่าศักยภาพของเรือนจำหรือสถานควบคุม จนครอบครัวลูกเมียต้องมาเป่าเค้กวันเกิดให้หน้าประตูเรือนจำ เพราะต้องอยู่เวร

อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะด้านพัฒนาพฤตินิสัยทั้ง 3 กรม คือ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ และกรมราชทัณฑ์ คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นองค์กรรับผิดชอบไม่ได้

แม้แทบจะไม่มีเวลาเหลือให้ใช้โปรแกรมแก้ไขบำบัดและฟื้นฟูได้เลยก็ตาม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะมีการหารือ เพื่อกำหนดมาตรการแนวทางในเชิงระบบต่อไป

เรื่องน่าสนใจ