สาธารณสุขเชียงใหม่เตือน “กลูตาไธโอน” เคมีภัณฑ์อันตราย มีโทษทั้งคนจำหน่าย-คนฉีด ขณะที่โฆษณาขายกลับเกลื่อนโลกออนไลน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยชื่อดังของ จ.เชียงใหม่ กินและฉีดสารกลูตาไธโอนเพื่อให้ผิวขาวใสจนช็อก ต้องส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน
ขณะที่ นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศเตือนวัยรุ่น โดยเฉพาะหญิงสาวฉีดกินกลูตาไธโอนเร่งผิวขาวแล้วอาจถึงตาย เพราะเป็นยาอันตรายมีผลจากสารเคมีข้างเคียง ทำลายตับ ไต หรือระบบเลือดต่างๆ กลูตาไธโอนเองไม่มีเจตนาผลิตออกมาเพื่อดำเนินการเรื่องของการเสริมสวย
แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้มีการโฆษณาขายกลูตาไธโอน สารเร่งผิวขาวดังกล่าวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กกันอย่างแพร่หลาย เพียงแค่พิมพ์คำว่า “โฆษณาขายกลูตาฯ” Search ผ่าน Google เท่านั้น เพียงไม่กี่วินาทีก็ปรากฏชื่อแหล่งจำหน่ายกลูตาไธโอนสารเร่งผิวขาว ขึ้นมาให้เลือกสั่งซื้อทางออนไลน์ทุกรูปแบบ ทั้งยังมีการโฆษณาการันตีว่ามี อย.ด้วย
นายอิศรา นานาวิชิต เภสัชกรชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นหรือวัยเรียนรักสวยรักงาม ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บำรุงผิว ลดน้ำหนัก เข้าใจว่าได้ผลดี ซึ่งใช้ไปแล้วได้ผลในระยะแรกๆ แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลข้างเคียง หรือผลตกค้างมาสู่ตัวเอง
ดังที่เห็นในข่าวที่ออกมา เด็กสั่งซื้อกลูตาไธโอนฉีดแล้วยังไม่พอ ไปซื้อจากอินเทอร์เน็ตนำมากินควบคู่ไปด้วยอีก ซึ่งที่จริงทุกตัวเป็นเคมีภัณฑ์ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา ทำให้บางรายเสียชีวิตด้วยการอุดตันของไขมันที่เข้าไปในกระแสเลือด แล้วไปอุดตันที่อวัยวะสำคัญ เช่น ทางเดินหายใจ หรือหัวใจที่เต้นผิดปกติ ทำให้เสียชีวิตได้
จึงฝากเตือนทั้งหญิงและชายว่า ให้ดูผลิตภัณฑ์แม้จะมี อย.แล้วก็ตาม แต่หากมีการระบุว่ามีการลดน้ำหนักได้ มักจะมีเคมีภัณฑ์แอบแฝงอยู่ องค์การอาหารและยาเองก็จะประกาศให้ดูตัวผลิตภัณฑ์ ที่บางครั้งไม่มีตัวหนังสือภาษาไทย เพราะนำเข้ามาจากต่างประเทศ ยิ่งมีปัญหามากเข้าไปอีก ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเภสัชกรควบคู่น่าจะปลอดภัยมากกว่า
“กลูตาไธโอนที่ทำเป็นลักษณะเม็ดออกมาเป็นอาหารเสริมชนิดเม็ด โดยบางคนรับประทานมากกว่า 1 เม็ด พอรับมากกว่า 1 เม็ดก็จะมีผลต่อตับและไตที่ขจัดเคมีภัณฑ์ออกจากร่างกาย ทำให้ตับไตวายหรือตับแข็งซึ่งอันตรายมาก”
นายอิศรากล่าวว่า ส่วนผู้ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารเคมีปนเปื้อนหรือเจือปน มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นยาจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ยา 2510 จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้รับจ้างฉีด จะมีโทษตามวิชาชีพพยาบาล ซึ่งตามปกติพยาบาลจะทำการฉีดยาได้ต้องมีใบสั่งแพทย์ ไม่ใช่รับจ้างฉีด
ขอบคุณที่มา ผู้จัดการออนไลน์