ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของคนไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบการใช้โทรศัพท์ประจำที่หรือโทรศัพท์บ้านโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สาธารณะและโทรศัพท์ทางไกลลดลง ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 50
ข้อมูลจาก “รายงานการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ.2557” สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชากรอายุ 15-70 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 4,719 คน ระหว่างปี 2554-2557 พบว่าคนไทยใช้โทรศัพท์น้อยลง โดยเฉพาะโทรศัพท์สาธารณะที่มีผู้ใช้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20.2 และโทรศัพท์ทางไกลที่มีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 7.6 ในขณะที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.5 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 53.8 ในปี 2557 โดยพบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเป็นวันละ 4 ชั่วโมง 22 นาที
ข้อมูลจากการสำรวจที่น่าสนใจมีดังนี้
การใช้โทรศัพท์ประจำที่ (โทรศัพท์บ้าน)
ปี 2557 มีผู้ใช้โทรศัพท์บ้านร้อยละ 25.7 ลดลงจากปี 2554 ซึ่งมีผู้ใช้ร้อยละ 35.2 และปี 2556 (ร้อยละ 27.9) ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เน้นใช้งาน “รับสาย” รองลงมา “โทรออก” และใช้เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยพบว่ามีการใช้โทรศัพท์บ้านเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 46.8 ในปี 2554-2556 เป็นร้อยละ 66.4 ในปี 2557 ขณะที่บริษัท ทีโอที จำกัดยังเป็นผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้มากที่สุด คือ ร้อยละ 71.0 รองลงมาคือ TRUE และ TT&T และในปีที่ผ่านมามีผู้ขอยกเลิกเลขหมายโทรศัพท์บ้านร้อยละ 79.8 โดยสาเหตุหลักในการยกเลิกใช้บริการคือ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และบริการไม่ดี
การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ)
การใช้บริการโทรศัพท์มือถือของคนไทยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 93.7 ในปี 2554 เหลือ ร้อยละ 93.5 ในปี 2555-2556 และร้อยละ 91 ในปี 2557 การใช้งานหลักคือ “โทรออก” และ “เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” การส่งข้อความ SMS/MMS ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้ใช้บริการหันมาสื่อสารข้อความ (แชท) ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น WhatsApp และ LINE มากขึ้น
โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลมีสัดส่วนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือมากที่สุดที่ร้อยละ 95.2 รองลงมาคือภาคใต้ (ร้อยละ 93.7) และภาคกลาง (ร้อยละ 91.5) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือน้อยที่สุด (ร้อยละ 88.4) การสำรวจพบด้วยว่า การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 31.9 ในปี 2555-2556 เป็นร้อยละ 59.5 ในปี 2557 ผู้ใช้บริการนิยมใช้บริการบริการแบบเติมเงิน (Pre-paid) ค่ายมือถือที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรู ตามลำดับ โดยเหตุผลหลักในการเลือกใช้บริการคือ การมีเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ อัตราค่าบริการที่ถูกกว่า และสัญญาณเสียงชัด
การใช้โทรศัพท์สาธารณะ
การใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 มีผู้ใช้งานโทรศัพท์สาธารณะเพียงร้อยละ 20.2 เหตุผลหลักในการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้การไม่ได้ ภาคกลางมีผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะมากที่สุดคือร้อยละ 25.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้บริการน้อยสุดเพียงร้อยละ 15.5 และการใช้งานโทรศัพท์สาธารณะทั่วประเทศลดลงเหลือประมาณ 1.2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งลดลงจาก 4.1 ครั้งต่อเดือนในปี 2555-2556 หรือลดลงร้อยละ 70.7
การใช้โทรศัพท์ทางไกล
การใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2557 มีผู้ใช้บริการร้อยละ 7.6 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 14.6 ในปี 2554 สาเหตุหลัก 2 ข้อที่ทำให้คนใช้โทรศัพท์ทางไกลลดลง คือ ไม่มีความจำเป็นและการใช้บริการด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่สะดวกกว่า การใช้โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศก็ลดลงเช่นกันเพราะผู้ใช้บริการเลือกใช้การติดต่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
การใช้อินเทอร์เน็ต
การสำรวจพบว่าปี 2557 มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตร้อยละ 53.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.5 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2555-2556 โดยส่วนใหญ่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไร้สาย ประชาชนอายุ 15-19 ปียังคงเป็นกลุ่มอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด ขณะที่คนอายุ 30-49 ปีมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นคือวันละ 4 ชั่วโมง 22 นาที จังหวัดที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 64.6 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด คือ ร้อยละ 48.2 ลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ มากที่สุด คือ ร้อยละ 95.5 รองลงมาเป็นการค้นหาข้อมูลและสื่อสารผ่านข้อความ (แชท) ขณะที่การบริการประเภทธุรกรรมการเงินยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก
การสำรวจพบว่าปัญหายอดฮิตของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมยังคงเป็นเรื่องของค่าบริการที่สูงเกินไป ความเร็วในการใช้งานไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ สัญญาณขัดข้องบ่อย เครือข่ายล่ม เป็นต้น โดยเฉพาะปัญหาตู้โทรศัพท์สาธารณะส่วนใหญ่เสียใช้งานไม่ได้ ซึ่ง กสทช.ได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อ คือ บริหารจัดการโทรศัพท์ประจำที่และโทรศัพท์สาธารณะให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น จัดการด้านราคาค่าบริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไร้สายให้มีการปรับตัวลดลงสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และจัดการด้านคุณภาพและมาตรฐานของบริการอินเทอร์เน็ต