รศ.นพ.ธันวา ตันสถิต ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกผ่าตัด รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยแผลไฟไหม้รุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไฟไหม้จากรถยนต์ติดแก๊ส และการผิงไฟช่วงหน้าหนาว อาจเป็นเพราะการแพทย์เจริญขึ้นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา จึงทำให้พบอัตราการเกิดแผลไฟไหม้ระดับรุนแรงเพิ่มขึ้น
ซึ่งขณะนี้หน่วยเบิร์นยูนิตที่รับคนไข้ไฟไหม้โดยเฉพาะนั้นแทบจะเต็มทุกโรงพยาบาล สำหรับการรักษานั้นจะตัดเอาเนื้อส่วนที่ตายออกแล้วใช้ผิวหนังปกปิดเอาไว้ เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อระหว่างเนื้อเยื่อทำการสมานตัวเอง
โดยผิวหนังที่มาปิดมี 2 ลักษณะคือ 1.ผิวหนังเทียม เนื่องจากราคาแพงมาก แผ่นละหมื่นกว่าบาท การรักษาต้องใช้หลายแผ่น จึงมีการใช้น้อย และ 2.ตัดผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายมาปิดทับ ซึ่งจะทำให้เกิดบาดแผลหลายที่ และเมื่อแผลหายดีแล้ว อาจมีปัญหาแผลเป็นดึงรั้ง
เช่น หากเกิดแผลที่คอก็จะก้มศีรษะไม่ได้ ถ้าเป็นบริเวณใบหน้า อาจทำให้ไม่มีปาก ไม่มีรูจมูกแบบปกติ หรือถ้าเป็นที่แขน ขาก็จะเกิดการบิดงอ
รศ.นพ.ธันวา กล่าวว่า อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้เนื้อเยื่อผิวหนังมาปิดทับบริเวณแผล ซึ่งต้องอาศัยการบริจาค แต่ประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งธนาคารเนื้อเยื่ออย่างเป็นทางการ รวมถึงผู้บริจาคน้อย ซึ่งขณะนี้สภากาชาดไทยได้เตรียมพร้อมจัดสถานที่ทำเป็นธนาคารเนื้อเยื่อ และหน่วยตัดเก็บเนื้อเยื่อเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดรับบริจาคเนื้อเยื่อได้ในต้นปี 2558 เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วประเทศโดยไม่แบ่งแยก
ขณะที่ต่างประเทศมีการจัดตั้งกันบ้างแล้ว แต่จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งประเทศไทยหากเป็น รพ.เอกชรดำเนินการอาจทำให้เกิดถูกข้อครหาเรื่องความไม่เหมาะสม เป็นการค้า
รศ.นพ.ธันวา กล่าวว่า การเก็บเนื้อเยื่อผิวหนังจะเก็บจากร่างของอาจารย์ใหญ่ที่อุทิศเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องลักษณะทางกายภาพ เพราะการเก็บเนื้อเยื่อผิวหนังจะตัดเพียงชิ้นเล็กๆ ใต้ผิวหนังเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ต้องอุทิศร่างกายเพื่อการเรียนการสอนทางด้านการแพทย์ และต้องการบริจาคเนื้อเยื่อร่วมด้วยสามารถแจ้งความจำนงไว้กับญาติได้
หรือติดต่อมาที่สภากาชาดไทยได้โดยตรง เหมือนกับการบริจาคอวัยวะอื่นๆ แต่มีข้อจำกัดว่าต้องไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ บี, ซี พิษสุนัขบ้า วัณโรค ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรคทางด้านสาธารณสุข เสียชีวิตไม่เกิน 8 ชั่วโมง
ที่มา ผู้จัดการ