อาหารมีความสำคัญสำหรับเด็กเป็นอย่างมากเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กได้รับพลังงานจากอาหารว่างและขนมมากกว่าอาหารหลัก ส่วนหนึ่งเป็นของว่างที่ไม่เหมาะสม จึงส่งผลให้เด็กเกิดโรคต่างๆ ตามมา
พญ.อรวรรณ เอี่ยมโอภาส สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยในบทความชุด “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องขนมและอาหารว่างสำหรับเด็ก ว่า เด็กต้องได้รับพลังงานสารอาหาร เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กต้องได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ แต่กระเพาะที่เล็ก อาจทำให้ไม่สามารถกินอาหารมื้อหลักได้มากพอกับที่ร่างกายต้องการ จึงต้องกินอาหารว่างเพิ่มขึ้น
พญ.อรวรรณ กล่าวต่อว่า ขนมและอาหารว่างสำหรับเด็ก มีหลักในการเลือกคือ เลือกขนมที่มีพลังงานไม่สูงมาก มีข้อกำหนดของราชวิทยาลัยฯ ให้เด็กควรได้รับพลังงานจากอาหารว่างไม่เกินมื้อละ 100-150 กิโลแคลอรี วันละ 2 ครั้ง ควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่อไปนี้ไม่น้อยกว่า 2 ชนิด ได้แก่ โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ซี บี 1 บี 2 หรือ ใยอาหาร โดยแต่ละชนิดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน เลือกขนมจากข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ให้เด็กรับประทานผลไม้รสไม่หวาน เช่น ส้ม ฝรั่ง อาหารว่างอื่นที่ควรมีในบ้าน เช่น นมจืด ขนมปังชนิดโฮลวีต เป็นต้น และไม่ควรดื่มน้ำอัดลม
ส่วนข้อระวังเกี่ยวกับการกินขนม คือถ้ากินขนมมากและยังกินอาหารหลัก 3 มื้อ ได้มากจะทำให้เกิดโรคอ้วน กินขนมมากแต่กินอาหารหลัก 3 มื้อน้อย จะทำให้เด็กผอมและขาดสารอาหาร วิตามินและเกลือแร่ เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ถ้ากินอาหารว่างที่มีเกลือสูง ถ้ากินขนมหวานแล้วดูแลฟันไม่ดี จะฟันผุ ถ้ากินอาหารว่างที่มีรสหวานบ่อยๆ เด็กจะติดหวาน ควรกินขนมห่างจากมื้ออาหารไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง กินขนมแล้วให้ดื่มน้ำเปล่า บ้วนปากหรือแปรงฟันเพื่อป้องกันฟันผุ