วันนี้ (13 กันยายน 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้ทำงานด้านระบาดวิทยา และควบคุมป้องกันโรคทั่วประเทศ
กำชับมาตรการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อม 5 ข้อสั่งการเพื่อควบคุมโรค คือ 1.ขอให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการของกรมควบคุมโรคและสำนักสาธารณสุขฉุกเฉินโดยเคร่งครัด
2.ขณะนี้สถานการณ์โรค พบผู้ป่วยประปราย เป็นหย่อมๆ โรคนี้หายป่วยภายใน 7 วัน โดยรอบ2-3 สัปดาห์นี้แนวโน้มสถานการณ์คงที่ พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 20 กว่าราย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยใน 10 อำเภอ ของ 6 จังหวัด
ได้แก่ นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบูรณ์ จันทบุรี หนองคาย กทม. ต้องควบคุมเฝ้าระวังทั้งผู้ป่วย คนใกล้ชิดระยะรอบใกล้เคียงในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย สำรวจหญิงตั้งครรภ์และร่วมมือกันกำจัดแหล่งยุงลาย
3.หากพบผู้ป่วย ให้เปิดวอร์รูมกำหนดให้นายแพทย์สาธารณสุข เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรค ทีมกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทีมพ่นทำลายยุงตัวแก่ และทีมบริหารจัดการข้อมูลเพื่อวางแผนควบคุมป้องกันโรค โดยทำงานร่วมกับสำนักควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่
4.ให้ดำเนินการตาม พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ ที่มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด โดยนำเรื่องโรคติดเชื้อไวรัส ซิกาเสนอต่อที่ประชุม เพื่อความเข้าใจในเรื่องโรคในการสื่อสารกับประชาชน และการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆในการควบคุมป้องกันโรค
5.เร่งสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่ถูกต้อง ขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลที่ไม่แน่ใจหรือไม่ทราบแหล่งที่มา เพราะจะทำให้เกิดความสับสนได้ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากกระทรวงสาธารณสุขหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
สำหรับการตรวจพบผู้ป่วย แสดงถึงระบบเฝ้าระวังตรวจโรคได้เร็ว และโรคนี้ไม่รุนแรงมากในผู้ที่ร่างกายแข็งแรง แต่ต้องควบคุมโรคให้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพราะอาจเสี่ยงทำให้ลูกพิการได้ พร้อมรณรงค์หญิงตั้งครรภ์ทุกรายเข้าระบบฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
ที่สำคัญคือประชาชนต้องตระหนักถึงการเข้ามามีส่วนรวมในการควบคุมป้องกันโรคด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค บวก 5 ส.ทุกสัปดาห์ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมาก ที่สำคัญคือลูกน้ำยุงลายในบ้านที่สำรวจพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงถึงร้อยละ 30-40 ส่วนในโรงเรียนพบร้อยละ 40-50 ทุกคนต้องร่วมกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน เพื่อป้องกันโรคที่มาจากยุงลาย 3 โรคคือไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา