กระทรวงสาธารณสุข เร่งติดตามการศึกษาผลกระทบจากการปิดป้ายราคายาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พร้อมตั้งคณะกรรมการศึกษาพิจารณาการกำหนดอัตราราคาค่ารักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วนการกำหนดค่ายาที่สมเหตุสมผล อยู่ระหว่างจัดส่งรายการยาที่ปิดป้ายราคาให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งในและนอกสังกัดพิจารณาความเหมาะสม
เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา “ค่ารักษาพยาบาลแพง” โดยได้เร่งดำเนินการใน 2 เรื่องคือ 1.การกำหนดค่ายาที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย โดยเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศให้ให้บริษัทติดป้ายราคายา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างติดตามให้ผู้ประกอบการจัดส่งราคายา เพื่อนำขึ้นเว็บไซต์
รวมทั้งส่งรายการยาที่ปิดป้ายราคาจาก 4-5 บริษัท ประมาณ 500รายการ ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในและนอกสังกัด อาทิ มหาวิทยาลัย กองทัพ เอกชน ตรวจสอบว่าจะมีผลกระทบจากการปิดป้ายราคายาหรือไม่ ก่อนดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญและให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานพยาบาลรัฐและเอกชน โดยศึกษาความเป็นไปได้ ปัญหา หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก่อนจะประกาศใช้ต่อไป
เรื่องที่ 2 ในส่วนค่ารักษาพยาบาล เป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ได้มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตั้งคณะกรรมการศึกษาพิจารณา เพื่อกำหนดอัตราราคาค่ารักษาพยาบาลหลักๆ ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ทั้งภาคประชาชนและสถานพยาบาล อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข มี พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการ ให้ประชาชนรับทราบก่อนเข้ารับบริการ
ทั้งนี้ หากค่าบริการไม่เป็นไปตามที่แสดงไว้ หรือไม่ได้ความเป็นธรรมจากการรับบริการ ได้จัดช่องทางด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 021937999 เพื่อรับเรื่องร้องเรียน
นอกจากนี้ มีเว็บไซต์ www.hospitalprice.org แสดงข้อมูลราคาอัตราค่าบริการโรงพยาบาลเอกชน เปรียบเทียบราคาโรงพยาบาลเอกชนหลักๆ 10 กว่าแห่ง เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปศึกษา ซึ่งขณะนี้มีประชาชนเข้าไปใช้ข้อมูลจำนวนมาก