นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์-พิษวิทยาคลินิกรามาธิบดี ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าว เรื่อง พลังเครือข่ายรองรับการดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านพิษ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา รวดเร็ว และครอบคลุมทุกพื้นที่
จากปัญหาการเข้าถึงยากำพร้าของผู้ป่วย ในกลุ่มยาต้านพิษซึ่งเป็นยาที่มีปริมาณการใช้น้อย อุบัติการณ์ที่มีเหตุจำเป็นต้องใช้ไม่สม่ำเสมอ แต่ยายังคงมีความจำเป็นในการใช้รักษา ทำให้บริษัทยาไม่มีการผลิตเพื่อสำรองไว้ในประเทศ
ถ้าสำรองไว้จะมีค่าใช้จ่ายในการสำรองที่สูง อาจจะทำให้ยาหมดอายุ จึงมีค่าใช้จ่ายสูงและสูญเปล่า และเป็นกลุ่มยาที่ไม่ทำกำไร ทำให้บริษัทไม่สนใจที่จะผลิตหรือนำเข้า เพราะไม่คุ้มค่า จนส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย โดยมียาที่อยู่ในกลุ่มนี้ประมาณ 17 รายการ เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาผู้ที่ได้รับพิษชนิดต่าง ๆ
อาทิ พิษจากไซยาไนด์ พิษจากสารเคมี พิษจากธรรมชาติ พิษจากอาหารและยา พิษจากงู เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับพิษเหล่านี้จะต้องได้รับยาอย่างรวดเร็วที่สุด จึงจะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ให้บริการรักษา ผู้ได้รับพิษฟรีตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ในส่วนของการดำเนินงานนั้น องค์การฯ ได้มีการจัดหายาต้านพิษและเซรุ่มจากผู้ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ตามโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ
เช่น ยารักษาภาวะพิษจากสารตะกั่ว หรือสารหนู ยารักษาภาวะพิษจากไซยาไนด์ ยารักษาภาวะที่เม็ดเลือดแดงของร่างกาย ลดความสามารถในการขนส่งออกซิเจน จากการมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติและยังได้จัดหายากำพร้าอื่นๆ สำรองไว้ที่คลังขององค์การฯ หลายรายการด้วยกัน
เช่น ยาลดภาวะอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวผิดปกติจากการใช้ยาทางจิตเวช ยารักษาการแพ้ยาสลบ เป็นต้น โดยในแต่ละปีองค์การฯ ได้มีการจัดหาและสำรองไว้มูลค่าไปีละ กว่า 70 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นมูลค่าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดยาที่มีมูลค่าตลาดยาโดยรวม ที่ในปี 2558 มีมูลค่ายาที่มีความจำเป็นในระบบสาธารณสุข ถึง 162,914 ล้านบาท
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา องค์การฯได้บริหารจัดการร่วมกัน กับ สปสช. ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ และสถาน เสาวภา สภากาชาดไทย จนสามารถช่วยผู้ป่วยรอดชีวิตจากพิษไปแล้ว กว่า 17,000 ราย ซึ่งยาต้านพิษบางรายการมีมูลค่าสูงถึง 400,000 บาท ต่อ 1 โด๊ส องค์การฯ ต้องเป็นกลไกแสวงหาและสำรองไว้ และเชื่อได้ว่าไม่มีใครที่จะสำรองยาราคาสูงๆไว้แน่นอน เพราะไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ
ด้าน ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า การดำเนินการของยาต้านพิษ ทำให้มีผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น จาก 13,000 คน เป็น 17,000 คน เพิ่มขึ้น 4,000 ราย ในปีที่ผ่านมา สำหรับผลของการรักษาโดยยาต้านพิษ เนื่องจากมียา 17 ตัว ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้เลือกเอาพิษไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษที่รุนแรงถึงตายได้อย่างรวดเร็ว
หากผู้ป่วยไม่ได้รับยาต้านพิษ พบว่าในช่วง 5 ปีที่มีโครงการมีผู้ป่วยประมาณ 300 ราย เมื่อเอาเฉพาะที่รุนแรงการได้รับยาต้านพิษตามโครงการนี้ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจาก 52% เป็น 28%
สำหรับไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่เราเคยได้ยินกันบ่อย เพราะมักถูกใช้ในการฆ่าคน เพราะฤทธิ์ของมันจะออกภายในไม่กี่นาที หรือภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งก็อยู่กับปริมาณที่ได้รับ แต่ยังไงคนที่ได้รับสารนี้ก็จะเกิดอาการชัก จนช็อคหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ซึ่งว่ากันว่ากว่าจะตรวจพบสารชนิดนี้ในร่างกาย ก็อาจะทำให้ฆาตกรลอยนวลไปไหนต่อไหนแล้ว มันจึงถือว่าเป็นยาพิษที่แรงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ดังนั้นหากมียาต้านพิษสำรองไว้ก็จะช่วยคนได้อีกมาก
ภาพจาก indiatvnews