ปิดสถิติผู้ป่วยสถาบันโรคผิวหนัง พบรักษาฝ้า โรคด่างขาวเพียบ แพทย์ชี้เป็นโรคที่ทำให้สีผิวผิดปกติ มีหลายสาเหตุทั้งพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์สร้างเม็ดสีผิดปกติ แนะทาครีมกันแดดให้ถูกวิธีและเพียงพอ เผยจัดประชุมวิชาการหัวข้อสีผิวผิดปกติ หวังช่วยพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้หน่วยงานทางการแพทย์
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่สถาบันโรคผิวหนัง นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลัง เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปีสถาบันโรคผิวหนัง ว่า สถาบันโรคผิวหนังเป็นหน่วยงานที่กรมการแพทย์สนับสนุนให้มีการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อถ่ายทอดไปยังหน่วยงานเครือข่ายทางการแพทย์อื่นๆ ซึ่งการประชุมวิชาการปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อคือ “การวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดจุดด่างดำหรือสีผิวผิดปกติ” มีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ เช่น โรคความผิดปกติที่เกิดจากพันธุกรรมทำให้เกิดมามีสีผิวผิดปกติ โรคผื่นแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสาร โรคทางเส้นผมและเล็บที่มีความผิดปกติทางสี การใช้แสงอาทิตย์เทียมในการรักษาโรคสีผิวผิดปกติ การใช้เลเซอร์รักษารอยโรคสีดำ และความรู้เรื่องการใช้เครื่องสำอางปกปิด จุดด่างดำบนใบหน้า เป็นต้น
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากสถิติปี 2555 ของสถาบันโรคผิวหนัง มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 184,313 ราย พบฝ้า จำนวน 1,872 ราย รอยแดงจากสิว จำนวน 1,508 ราย และ โรคด่างขาว จำนวน 681 ราย โรคดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการการดูแลการรักษา เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพชีวิต การรักษาส่วนใหญ่ใช้เวลานานและบางครั้งมีผลข้างเคียง เป้าหมายในการรักษาคือเพื่อให้สีผิวหนังกลับคืนมาเป็นปกติ
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า โรคที่ทำให้เกิดจุดด่างดำ หรือสีผิวผิดปกตินั้น หากผู้ป่วยมีจุดด่างเป็นสีเข้มขึ้น จะทำให้เกิดฝ้าหรือปาน หากมีจุดด่างเป็นสีขาวเรียกว่าเป็นโรคด่างขาว จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอยโรคสีขาว ขอบเขตชัดเจน เป็นผลเนื่องจากมีการสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสีในชั้นหนังกำพร้า สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน พันธุกรรม ความผิดปกติที่เซลล์สร้างเม็ดสี อาจพบร่วมกับโรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน และโรคซีดบางชนิด
นพ.จินดา กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคสีผิวผิดปกติ คือ การกันแดดที่ถูกวิธีและเพียงพอ เนื่องจากรังสียูวีเอและยูวีบี เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดจุดด่างดำบนใบหน้า นั่นคือใช้ครีมกันแดดที่เหมาะกับกิจกรรม หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ครีมกันแดดควรจะมี SPF อย่างน้อย 30 และสามารถกันยูวีเอได้ด้วยในปริมาณที่เพียงพอ คือบีบครีมกันแดดให้ยาวเท่ากับข้อปลายสุดของนิ้วชี้ตนเอง ทาทั่วหน้า ทำอย่างนี้สองรอบ ก็จะปกป้องแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“อย่างไรก็ตาม หากมีจุดสีผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ควรทำคือควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง เพราะโรคที่มีสีผิวผิดปกตินั้น มีหลายโรค และการรักษาแต่ละโรคก็แตกต่างกันไป จึงควรไปรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพื่อลดการเสียเวลา เสียค่าครีม หรือยาที่อาจจะไม่ตรงกับโรค ที่สำคัญคือลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงของครีมนั้นที่อาจมีส่วนผสมอันตราย หรือไม่ได้มาตรฐานตามท้องตลาด” นพ.จินดา กล่าว
Credit : www.manager.co.th