นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ครอบครัวของเด็ก 4 พี่น้องที่ตกระเบียงคอนโดเมื่อคืนวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาว่า กรมสุขภาพจิตได้เร่งให้การดูแลด้านจิตใจครอบครัวของเด็กอย่างเต็มที่
โดยได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทจากสถาบันราชานุกูล เข้าเยี่ยมให้กำลังใจมารดาของเด็ก พบว่าขณะนี้มารดายังอยู่ในภาวะเศร้าโศก เป็นทุกข์ใจ นอนไม่หลับ
กรมสุขภาพจิตได้วางแผนส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแค็ท จากสถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข35 ของกทม. ลงเยี่ยมดูแลด้านจิตใจ ครอบครัวทั้งแม่ คุณตา คุณยายของเด็ก
โดยจะประเมินสภาพจิตใจ โดยเฉพาะความเครียด อาการซึมเศร้า ในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561นี้ที่รพ.รามคำแหง เพื่อวางแผนดูแลอย่างต่อเนื่องจนกว่าสภาพจิตใจจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ
รวมทั้งจะเข้าเยี่ยมอาการของเด็ก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯสำนักงานเขตกทม. เข้าเยี่ยมด้วย เพื่อดูแลด้านสวัสดิการต่างๆแก่ครอบครัวด้วย
ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถาบันราชานุกูล ได้นำหรีด กระเช้ารังนก และเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้มารดาที่วัดจันทวงศาราม (วัดกลาง) ซอยลาดพร้าว 132 เขตบางกะปิ
ร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศลศพของด.ช.คนัธชา อายุ 5 ขวบ แรกพบมารดามีสีหน้าหมองเศร้า ทีมงานได้เข้าไปให้กำลังใจ มารดาสนทนาพร้อมกับร้องไห้ว่า
“เวลานี้ทุกคนในบ้านรู้สึกทุกข์ใจมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ” ทีมงานได้ปลอบใจ โดยได้เน้นย้ำพร้อมให้การดูแลช่วยเหลือให้กลับมาเข้มแข็ง และให้คำแนะนำหากนอนไม่หลับหรือเครียดวิตกกังวล ให้ไปพบแพทย์หรือรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 35 หรือขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง
สำหรับแผนดูแลจิตใจของเด็กทั้ง 3 คน ซึ่งอายุต่ำกว่า 11 ปี และได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกกลัว และกังวลกลัวเหตุการณ์จะเกิดซ้ำอีก เด็กที่ได้รับผลกระทบรุนแรงทางจิตใจ อาจทำให้มีปัญหาการนอน ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิด มีความรู้สึกซึมเศร้า หรือมีอารมณ์เฉยชา
บางคนอาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองเป็นต้นเหตุไม่สามารถช่วยน้องได้ จะต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือช่วงหลังเกิดเหตุ 2 สัปดาห์แรก จะประเมินสภาวะความเครียด ผลกระทบด้านจิตใจ เช่นอาการหวาดกลัว ฝันร้าย สะดุ้งตกใจง่าย หลับยาก รู้สึกว่าตัวเองผิด เป็นต้น
ระยะที่2 คือช่วง2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน จะประเมินสภาวะเครียดรุนแรงซ้ำ และระยะที่ 3 คือช่วง 3 เดือนขึ้นไปหลังเกิดเหตุ ส่วนในรายที่เป็นผู้ใหญ่
แผนการดูแลจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะเช่นเดียวกับเด็ก แต่จะมีการประเมินระดับความเครียด คัดกรองอาการซึมเศร้าเป็นระยะๆ และดูแลจนกว่าสภาพจิตใจจะกลับมาสู่สภาวะปกติ
ซึ่งญาติและเพื่อนบ้านจะมีส่วนสำคัญในการช่วยกันประคับประคองจิตใจ ให้กำลังใจ จะช่วยให้ผู้ประสบปัญหา ก้าวข้ามความทุกข์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคเครียดสะเทือนขวัญหรือโรคบาดแผลทางใจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม สามารถเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่