ที่มา: surgery.or.th/

เป็นเรื่องแน่นอนที่การผ่าตัดทุกชนิดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ได้ ไม่ว่าจะทำโดยผู้ที่มีความชำนาญเพียงใด การผ่าตัดเสริมเต้านมก็เช่นกัน เมื่อคิดจะเสริมเต้านม ควรทราบก่อนว่ามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดจะเกิดขึ้นได้บ้าง จะได้เตรียมใจและเตรียมรับมือได้ถูกต้อง 

91

ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมเต้านม

สามารถแบ่งได้เป็นข้อๆ ดังนี้

1. เลือดคั่งภายในโพรงที่วางเต้านมเทียม (hematoma)
2. แผลติดเชื้อ (wound infection)
3. แผลผ่าตัดแยก (wound dehiscence)
4. วางเต้านมเทียมในที่ที่ไม่เหมาะสม (implant malposition) เช่น เต้านมเทียมสองข้างห่างกันเกินไป วางตำแหน่งต่ำเกินไป สูงเกินไป ออกข้างมากเกินไป เต้านมเทียมสองข้างมีระดับไม่เท่ากัน เป็นต้น
5. เต้านมชิดรวมกันกลางหน้าอก (symmastia)
6. หัวนมชา (change in nipple sensation)
7. ขยับ (กระดิก) เต้านมได้ (breast animation)
8. เต้านมเกิดพังผืดหดรัด แข็งตัว ผิดรูป (capsular contracture)
9. ถุงเต้านมเทียมทะลุออกภายนอก (implant extrusion)
10. ถุงเต้านมเทียมแตกรั่ว (implant deflation, gel bleed) 

92

นอกจากภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดโดยตรงแล้ว ยังเกิด ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ หรือ การให้ยาระงับความรู้สึกได้อีกด้วยในลักษณะเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆที่ทำภายใต้การดมยาสลบ จะเห็นได้ว่า มีภาวะแทรกซ้อนมากมายที่อาจเกิดได้จากการเสริมเต้านม แม้จะทำด้วยเทคนิคมาตรฐาน ด้วยเต้านมเทียมมาตรฐาน และทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ลองคิดดูว่า ถ้าหากเรานำเต้านมเทียมที่ไม่มาตรฐาน ซิลิโคนที่ตกเกรด ไม่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา อะไรจะเกิดขึ้น ผลแทรกซ้อนที่เกิดอาจมากมายถึงขั้นก่อให้เกิดมะเร็ง หรือผลเสียที่ร้ายแรงกว่านั้นได้

ดังนั้นการตัดสินใจเลือกศัลยแพทย์ผ่าตัดที่มีความรู้ความชำนาญจึงสำคัญมาก เนื่องจากการผ่าตัดด้วยเทคนิคที่ถูกต้องโดยศัลยแพทย์ที่ชำนาญ ไม่เพียงลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนให้ต่ำที่สุดแล้ว ศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญยังสามารถจัดการปัญหาได้ทันท่วงทีเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นอีกด้วย

แล้วใครละ ที่ควรจะเป็นผู้ทำผ่าตัด คำตอบคือ ต้องเป็นศัลย์แพทย์ตกแต่งเท่านั้น !!!!

แพทย์ที่จะสามารถผ่าตัดเสริมเต้านมให้ท่านได้อย่างปลอดภัยนั้น ต้องได้ผ่านการฝึกอบรมในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างมาอย่างถูกต้อง จนได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขา “ศัลยศาสตร์ตกแต่ง (Plastic Surgery)” ข้อนี้เป็นมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

หากท่านไปพบแพทย์ ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ควรมองหาวุฒิบัตรจากแพทยสภาที่ตรงกับชื่อนี้เท่านั้น ไม่ใช่ชื่ออื่นๆที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ดูเหมือนๆกัน เช่น เวชศาสตร์ผิวพรรณและความงาม เวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวย ฯลฯ

ท่านอาจไม่ทราบว่า ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ผ่านการฝึกอบรมมานานถึง 5 ปี กว่าจะมาผ่าตัดเสริมเต้านมได้นั้น ต้องได้รับการเรียนและฝึกฝนจนมีความรู้ความสามารถในการผ่าตัดเสริมเต้านมได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมเต้านมแบบใช้ถุงซิลิโคนหรือการเสริมสร้างโดยใช้เนื้อเยื่อตนเอง และยังเป็นผู้ที่ต้องรู้และสามารถแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเสริมเต้านมได้เป็นอย่างนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งเต็มหลักสูตร เช่น อาศัยการดูงานไม่กี่เดือนจะไม่สามารถทำได้

มีผู้ถามเข้ามาว่า…มีงบห้าหมื่นบาท จะเสริมเต้านมที่ไหน ?

เกริ่นความเข้าใจเบื้องต้นดังนี้

ต้นทุนที่เป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับการทำผ่าตัดเสริมหน้าอกเพื่อความสวยงาม ขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานหลักๆดังต่อไปนี้

  1. ชนิดหรือยี่ห้อของเต้านมเทียมที่จะนำมาใช้เสริมหน้าอก – ปัจจุบันเต้านมเทียมยี่ห้อที่มีชื่อเสียงมากที่สุดขายให้กับแพทย์ในราคาไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท
  2. สถานที่ที่จะใช้ทำการผ่าตัด – การผ่าตัดในโรงพยาบาลมีต้นทุนต่างๆที่มากกว่าการผ่าตัดที่คลินิก แต่ระบบความปลอดภัยสำหรับการผ่าตัดในโรงพยาบาลย่อมมีมากกว่า เช่น ระบบการปรับอากาศ ความชื้นและความสะอาดในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลดีกว่าห้องผ่าตัดในคลินิก จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมีมากกว่า เครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งกรณีฉุกเฉินถึงชีวิต ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมมากกว่า ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลสำหรับการผ่าตัดเสริมเต้านมจึงสูงกว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท
  3. วิธีที่จะระงับความเจ็บปวด – การใช้ยาดมสลบก็จะมีต้นทุนมากกว่าในส่วนของวิสัญญีแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แต่แน่นอนว่าความปลอดภัยย่อมมีมากกว่าการระงับความรู้สึกโดยไม่มีวิสัญญีแพทย์
  4. การครอบคลุมการดูแลหลังการผ่าตัดของแพทย์ – เป็นปัจจัยที่หลากหลาย เพราะขึ้นกับข้อตกลงของแพทย์แต่ละท่าน

ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง การตั้งราคาเพื่อกลไกการตลาด หรือการโฆษณา เพราะถูกนำมาใช้กับแพทย์เพียงบางส่วนเท่านั้น บ้างก็ตั้งราคาสูงเกินไป ตามความเชื่อว่า เมื่อราคาสูง น่าจะมีคุณภาพดีกว่า

จากที่กล่าวมา จึงไม่สามารถแนะนำแบบฟันธงได้ว่า ถ้ามีงบประมาณดังกล่าวแล้วควรทำที่ไหน แต่สำหรับภาวะการณ์ปัจจุบัน ราคาดังกล่าวมีโอกาสน้อยที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และรายละเอียดที่อยู่ในแต่ละหัวข้อข้างต้น คุณจะรู้ได้ก็เมื่อมีโอกาสเข้าไปปรึกษาพูดคุยสอบถามแพทย์ ได้เห็นห้องผ่าตัดและห้องพักฟื้น ก่อนจะพิจารณาว่าคุณควรตัดสินใจทำผ่าตัดกับแพทย์ท่านนั้นได้หรือไม่

คำถามที่ท่านควรถาม เช่น

  • เต้านมเทียมที่จะใช้ ยี่ห้ออะไร ท่านควรจดบันทึกแล้วนำกลับไปค้นคว้าเสียก่อน และเมื่อจะเข้ารับการผ่าตัด ท่านก็ควรจะได้เห็นเต้านมเทียมจริงที่จะใช้ ในชนิด ขนาดและรูปร่างแบบที่ได้ตกลงไว้กับแพทย์ ท่านควรได้หลักฐานของเต้านมเทียมที่ได้ใช้ไปกลับบ้านไปด้วย ไม่ว่าจะกล่อง คู่มือ เลขประจำสินค้า นี่ไม่ต่างจากการที่ท่านไปซื้อกระเป๋าแบรนเนม มองหากล่อง ใบรับประกัน ฯลฯ
  • ขอดูสถานที่ที่จะทำผ่าตัดได้หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากจะเป็นการผ่าตัดที่มีวัสดุแปลกปลอมใส่เข้าไปในร่างกาย สถานที่ที่จะใช้ในการทำผ่าตัดต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมเชื้อโรคในทุกขั้นตอน มีมาตรการการป้องกันการติดเชื้อหลายขั้นตอน หากท่านได้เคยเข้าห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ท่านจะเข้าใจได้โดยง่าย
  • แพทย์ที่จะทำการผ่าตัดให้ท่าน จบการศึกษาอบรมแบบใดตามมาตรฐานแพทยสภา ท่านควรนำชื่อและนามสกุลของแพทย์ไปสืบค้นที่เว็บไซต์ของแพทยสภาเสียก่อน อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจผ่าตัดในทันทีที่ได้ไปปรึกษาแพทย์ในครั้งแรก
  • สิ่งสำคัญที่สุดก่อนการทำผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวย คือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดในทุกด้านก่อนการผ่าตัด และควรมีความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ตกลงแนวทางการแก้ไข รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในกรณีที่เกิดปัญหาต่างๆขึ้น ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเลือกทำ

93

เว็บไซต์ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย

94

เว็บไซต์ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย

เต้านมเทียม มีวันหมดอายุมั้ย และ ถ้าหมดอายุทำให้นมเน่าได้จริงหรอ ???

ต้องเข้าใจก่อนว่า เต้านมเทียมนั้นมีองค์ประกอบ 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ตัวถุงและสารที่อยู่ในถุง (สารที่บรรจุอยู่ในถุงนั้น เมื่อก่อนใช้ซิลิโคนเหลว liquid silicone แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นซิลิโคนเจลที่เรียกว่า cohesive silicone gel กันหมดแล้ว ซิลิโคนเจลแบบปัจจุบันจะไม่เหลวไหลออกจากที่ เพราะมีคุณสมบัติจับตัวกันเอง)

ต้องขอบอกว่า ตัวถุงเต้านมเทียมทุกยี่ห้อนั้นมีโอกาสที่จะเกิดการแตกรั่วได้ โดยอัตราการเกิดการรั่วนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7 % ใน 10 ปี (ข้อมูลจากการวิจัยโดยใช้ถุงนมที่ได้มาตราฐาน สำหรับถุงเต้านมเทียมที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นจะมีอัตราการรั่วมากกว่านี้) และเมื่อเกิดการรั่ว แล้วร่างกายจะมีปฏิกิริยากับสารที่รั่วออกมาอย่างไร

ต้องขอตอบแบบนี้ว่า การรั่วของถุงเต้านมเทียมนั้นจะแบ่งการรั่วเป็น 2 ชนิดคือ

  • มีการรั่วซึม แต่ซิลิโคนเจลยังคงอยู่ภายในโพรงหน้าอกที่มีถุงเต้านมเทียม – การรั่วชนิดนี้ มักไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเต้านมหรือผิวหนังใกล้เคียง เพราะการรั่วลักษณะนี้ ร่างกายยังมีเยื่อพังผืดหุ้มเต้านมเทียมหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง
  • การรั่วซึมของซิลิโคนจากภายในถุงเต้านมเทียมออกมานอกโพรงหน้าอกที่มีถุงเต้านมเทียม – การรั่วลักษณะนี้ ต้องมาดูก่อนว่า สารที่อยู่ในถุงเต้านมเทียมนั้นเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเป็นน้ำเกลือ ร่างกายก็สามารถดูดซึมได้ แต่ถ้าเป็นซิลิโคนเหลว ก็อาจเกิดปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น อาจมีอาการอักเสบแดง ถ้าเป็นซิลิโคนเจลแบบใหม่ก็มักจะไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ทำการเสริมเต้านมมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เช่น มากกว่า 5 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจเต้านมของท่านด้วยตนเองเป็นประจำ รวมไปถึงการกลับไปพบแพทย์ที่ทำการเสริมให้ท่าน และการตรวจด้วยเอกซเรย์ ก็จะช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้นนะคะ ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการผ่าตัดเสริมหน้าอกนะคะ

เรื่องน่าสนใจ